‘องค์กรครูอีสาน’ รวมตัวใส่ชุดดำต้านพรบ.การศึกษาใหม่

อำนาจเจริญ องค์กรครูอีสานรวมตัวใส่ชุดดำลุกฮือค้าน พรบ.การศึกษาใหม่ ให้ ผอ.มาเป็นตำแหน่งครูใหญ่ ยกเลิกใบประกอบวิชาชีพครู เดินหน้าไม่เห็นด้วยนัดชุมนุมใหญ่จังหวัดอุบลฯอีกวันพรุ่งนี้

ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่าวันที่ 7 มีนาคม ระบุว่าพลชัย โสภากันต์ ประธานชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ที่ ประชุมใหญ่ชุมรมครูประชาบาลตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมาย นั้น ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมติ ไม่เห็นด้วยกับสาระของร่างกฎหมายดังกล่าวและไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ อย่างเช่นคืนตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนมาเป็นครูใหญ่ และไม่เห็นด้วยกับการที่จะยกเลิกใบประกอบวิชาชีพครู เป็นต้น พวกตนกว่า 50 คนจึงรวมตัวกันคัดค้านและจะมีการรวมตัวกันครั้งใหญ่ในวันพรุ่งนี้ที่ จังหวัดอุบลราชธานี กว่า 300 คนด้วยเหตุผลดังนี้

๑. (ร่าง)พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในขณะนี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ไม่เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการศึกษา อาทิ ข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านการศึกษา ในการแสดงความคิดเห็น ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญของการศึกษาชาติ

๒. (ร่าง)พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นี้ ไม่ได้ดำเนินการตามที่ได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๗๗ ซึ่งบัญญัติไว้ให้ “รัฐต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชน” แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะแจ้งให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นผ่านทางเวปไซต์ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ถึง วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ก็ตามแต่การเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

Advertisement

๓. (ร่าง)พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้ เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญเกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศ ในการให้การศึกษากับพลเมืองของประเทศนี้ จึงควรมีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การพิจารณาอย่างรีบเร่ง อันเนื่องมาจากการใกล้หมดวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ย่อมขาดความละเอียดรอบคอบ อาจก่อให้เกิดความผิดพลาดในบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเห็นควรให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้

๔. มาตรา ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญในวรรคสองว่า “ครูใหญ่ต้องทำหน้าที่ครูและผู้ช่วยครูใหญ่มาแล้วตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของครูกำหนด” และบัญญัติไว้ในวรรคสามว่า“….ผู้ช่วยครูใหญ่ที่ทำหน้าที่ช่วยงานบริหารหรือธุรการอาจแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิใช่เป็นครูก็ได้…” จากบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวเห็นว่าบุคคลที่จะเป็นครูใหญ่ได้จะต้องผ่านการเป็นครูและเป็นผู้ช่วยครูใหญ่มาก่อน ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสม แต่ในวรรคสามกลับบัญญัติไว้ว่า “….ผู้ช่วยครูใหญ่ที่ทำหน้าที่ช่วยงานบริหารหรือธุรการอาจแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิใช่เป็นครูก็ได้…”การบัญญัติเช่นนี้จะทำให้เกิดความสับสนในหน้าที่ และในธรรมเนียมของการปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษานั้น บุคคลที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้บริหารโรงเรียนมักจะได้รับความเคารพนับถือจากครูในฐานะเสมือนเป็นผู้บังคับบัญชา การให้มีผู้ช่วยครูใหญ่ที่ไม่เคยเป็นครูมาก่อนย่อมจะทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานต่อกันตามสายงานได้

๕. มาตรา ๙๙ แห่ง(ร่าง)พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ บัญญัติว่า “ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ เป็นครูใหญ่และผู้ช่วยครูใหญ่ตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณีและมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามอัตราเดียวกับที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ “ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติของมาตรานี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งไม่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด ไม่มีงานวิจัยหรือแนวคิดทฤษฎีรองรับแนวคิดดังกล่าว

Advertisement

๖. (ร่าง)พระราชบัญญัติการศึกษาฉบับนี้ ได้กำหนดคำไว้ว่า “ใบรับรองความเป็นครู” แต่ไม่ได้นิยามคำดังกล่าวไว้ว่าหมายถึงอะไรและใน พ.ร.บ.นี้ก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า “ใบรับรองความเป็นครู”มีความแตกต่างจาก “ใบประกอบวิชาชีพครู” อย่างไร มีผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่หรือผลตอบแทนที่ครูพึงได้รับอย่างไร ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างไร ไม่มีเหตุผลอันใดรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ด้วยเหตุที่กล่าวมา “ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” จึงขอคัดค้านในบทบัญญัติของ
กฎหมายฉบับนี้ และสนับสนุนที่จะให้การร่างกฎหมายการศึกษาก่อเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศชาติอย่างแท้จริงชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีการรวมตัวอีกครั้งที่ จ.อุบลราชธานีวันพรุ่งนี้และรวมตัวครั้งใหญ่ที่ กทม. หากทางรัฐบาลไม่เห็นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image