‘นักวิชาการมช.’ ชี้ ผลวิจัยฝุ่นพิษ 2.5 ‘ทำคนอายุสั้น-โง่-อารมณ์เพี้ยน’ จี้รัฐแก้จริงจัง

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร 50 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดบรรยายเรื่อง “มหันตภัยฝุ่นพิษถล่มเมือง” โดยมีคณะแพทย์ พยาบาล บุคคลากร นักศึกษาและประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวถึงผลของฝุ่นพิษต่อสุขภาพ ว่า สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อปี ทำให้ประชาชนที่เกิดและอาศัยในพื้นที่นั้นตลอดชีวิตอายุขัยสั้นลง 0.98 ปี รวมทั้งทุกๆ 10 ไมโครกรัมของพีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้นต่อวั จะมีอัตราการมารักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งเข้าห้องฉุกเฉินและนอนรักษาตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เกิดจากภาวะเฉียบพลันของโรคเส้นเลือดในสมองแตก เส้นเลือดในสมองตีบตัน อัมพฤษ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพองกำเริบและหอบหืดกำเริบ

“ส่วนผู้ป่วยที่มารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก หรือตามคลีนิก เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอักเสบ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ความดันโลหิตสูง เวียนหัว ฯลฯ ซึ่งผลกระทบของพีเอ็ม 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรง นอกจากทำให้อายุขัยสั้นลง  การเสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้นยังทำให้การเจ็บป่วยขั้นรุนแรงสูงขึ้นด้วย” ศ.นพ.ชายชาญ และว่า ผลการวิจัยในต่างประเทศพบว่าพีเอ็ม 2.5 มีความสัมพันธ์กับการป่วยของ 4 โรค คือ ปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด มะเร็งปอด และหลอดเลือดสมอง ขณะที่ 5 อันดับของโรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด อันดับ 1 คือ โรคมะเร็ง อันดับ 2 โรคหลอดเลือดในสมอง อันดับ 3 ปอดอักเสบ อันดับ 4 โรคหัวใจขาดเลือด และอันดับ 5 การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน จะเห็นว่า 4 อันดับแรกของโรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดเป็นโรคที่สัมพันกับมลพิษทิ้งสิ้น

Advertisement

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวอีกว่า หากมองถึงผลกระทบระยะยาวมากกว่านี้ 10 เท่า ประชาชนจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี ประชาชนจะเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 -14 จะเป็นความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะมีปัญหาหลอดเลือดเสื่อมและทำให้เป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ก่อนหน้านี้เคยศึกษาวิจัยสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรใน จ.เชียงใหม่ เพื่อวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงกับค่าพีเอ็ม 2.5 พบว่าในช่วงปี 2016-2018 พบว่าค่าพีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. สัมพันธ์กับการเสียชีวิตรายวันของชาวเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนที่ อ.เชียงดาว ที่เคยลงพื้นที่เก็บข้อมูลและทำวิจัย พบว่า ค่าพีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชาวอ.เชียงดาวเสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยถึงอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากผลกระทบของ พีเอ็ม 2.5 ในปี 2009 ซึ่งสำรวจข้อมูลในจังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ รวม 17- 18 จังหวัด รวมเชียงใหม่ด้วย อยู่ประมาณ 38,000 กว่าราย ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับที่องค์การอนามัยโลกเคยประมาณการณ์ไว้ที่ 37,000 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 3,000 กว่าคน

“ขณะที่ผลกระทบระยะยาวดูไม่รุนแรง แต่บั่นทอนการพัฒนาประเทศ คือ จะโง่ขึ้น เด็กจะเป็นออทิสติกเพิ่มขึ้น มีอารมณ์เพี้ยนตอบสนองต่อสังคมแบบแปลกๆ ผู้ใหญ่จะเป็นอัลไซเมอร์และโรคพากินสันเพิ่มขึ้น เราอาจจะดูไม่น่าเชื่อ แต่มีหลักฐานทางการแพทย์ในระดับสูงที่ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมลพิษหมอกควันที่รุนแรงขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสุขภาพ มีผลกระทบและสร้างมูลค่าความเสียหายต่อปีไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเดิมย้อนหลังกลับไปราว 10 ปี ปัญหาหมอกควันจะเกิดขึ้น 1 – 2 เดือน แต่ปัจจุบันเกิดขึ้นยาวนานต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 – 5 เดือน ฉะนั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหา และตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับคนที่เผาป่า ซึ่งก่อมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image