โคราช จับมือ มติชน จัดเสวนาสร้างความรู้-เสริมความเข้าใจประชาชน ก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

“โคราช”จัดเสวนาเนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สร้างความรู้เสริมความเข้าใจประชาชนก่อนถึงวันพระราชพิธี

วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ชาวไทยต่างได้รับข่าวดีอันเป็นมหามงคลรับปีใหม่ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 นับเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตของคนไทย และ อาจจะเป็นเพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิตของหลายคนที่จะได้อยู่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีสำคัญของทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ด้วยพิธีนี้เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยบริบูรณ์ และเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ซึ่งหากนับตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อ 5 พฤษภาคม 2493 การตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้จึงถือว่าเกิดขึ้นในรอบ 69 ปี การนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศ มีกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2562 คือ

วันที่ 6 เมษายน มีพิธีพลีกรรมตักน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ในกรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

Advertisement

วันที่ 8 เมษายน พิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามหลวงประจำจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

วันที่ 9 เมษายน เวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ณ พระอารามหลวง ประจำจังหวัด

วันที่ 18 เมษายน เสกน้ำอภิเษก ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนต์ เจริญพระพุทธมนต์ ทำน้ำพระพุทธมนต์ ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

วันที่ 19 เมษายน แห่เชิญน้ำอภิเษก จากวัดสุทัศนฯไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งในเรื่องของน้ำนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้เป็นน้ำที่สะอาด และมีการพิสูจน์ เพราะเป็นน้ำมงคลใช้ในพระราชพิธี

วันที่ 22-23 เมษายน เป็นการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ แกะพระราชลัญจกร และจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมวงศ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนในช่วงเดือนพฤษภาคม วันที่ 2 พฤษภาคม ทรงถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต ปฐมบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และทรงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์

วันที่ 3 พฤษภาคม ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เวลา 10.00 น. เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ พระราชลัญจกร จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

วันที่ 4 พฤษภาคม สรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน (จัก-กะ-พัด-พิ-มาน) และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ (อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พร-ราด-ชะ-อาด) และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัฐรบิฐ (พัด-ทะ-ระ-บิด) เสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยฯ เสด็จฯ ขบวนราบใหญ่ ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปราสาทพระเทพบิดร และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

วันที่ 5 พฤษภาคม พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

วันที่ 6 พฤษภาคม เสด็จออก ณ สีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท (สุ-ทัย-สะ-หวัน-ยะ-ปรา-สาท) พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

ขณะที่พระราชพิธีเบื้องปลาย ประกอบด้วย เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดในช่วงเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ และลึกซึ้งด้วยความหมายต่างๆ ที่อยู่ในเครื่องประกอบพระราชพิธี ล้วนแต่เป็นมรดกที่ล้ำค่ามาแต่โบราณ และเป็นของที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่สามัญชนจะมีโอกาสเห็นได้ยาก การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเฝ้าชมพระราชพิธีครั้งสำคัญ จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจความหมายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้ลึกซึ้งและเข้าใจมากขึ้น ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมในการเสริมความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน

นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสำนักพระราชวังออกประกาศเรื่อง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 โดยส่วนหนึ่งของพระราชพิธีคือ การเตรียมน้ำอภิเษก และน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งมีการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ และจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งนำมาใช้ประกอบพระราชพิธีด้วย

ในฐานะที่เทศบาลนครนครราชสีมา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีแนวนโยบายการบริหารงาน และการดูแลพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งมีแนวทางพัฒนาการศึกษา ส่งเสริมความรู้ประชาชน ตลอดจนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จึงตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความรู้ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีดังกล่าว ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญที่มีความละเอียดอ่อน ลึกซึ้งด้วยความหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในพิธีดังกล่าว

“เทศบาลนครนครราชสีมา จึงร่วมกับเครือมติชน ดำเนิน โครงการเผยแพร่ และส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรž โดยได้จัดทำข้อมูล จัดนิทรรศการที่เกี่ยวข้อง และการเสวนา เสวยราชสมบัติกษัตราž เพื่อสร้างความรับรู้อย่างรอบด้าน และความเข้าใจแก่ชาวเทศบาล ชาวนครราชสีมา จังหวัดใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ งานจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2562 เวลา 13.00 น. ที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 ชั้น G เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ขอเชิญประชาชนผู้สนใจเข้ารับฟังการเสวนาอย่างพร้อมเพรียงกัน”Ž นายสุรวุฒิกล่าว

สำหรับนิทรรศการและสัมมนาสัญจรครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในโครงการเผยแพร่ และส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่จะเกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน คือ ผศ.ดร.นนทพร อยู่มั่งมี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมสร้างความเข้าใจ

งานนี้ จึงนับว่าเป็นครั้งสำคัญในชีวิตของคนไทย ที่จะได้รับรู้ และเข้าใจในคติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก


การเตรียมน้ำศักดิ์สิทธิ์

สําหรับการเตรียมตักน้ำในแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทำน้ำอภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจาก 108 แห่งทั่วประเทศ โดย จ.นครราชสีมา พบว่า ต้นน้ำลำตะคอง ถือเป็นแม่น้ำสำคัญ ที่เป็นจุดกำเนิดแม่น้ำมูล ก็คือ น้ำจากบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ผืนป่ากว้างใหญ่ และมีตำนานเล่าขานกันมาอย่างยาวนาน และเป็นอุทยานแห่งแรกของประเทศไทย ส่วนด้านของ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีคลองต่างๆ หลายสาขาไหลมารวมกันที่จุด คลองอีเฒ่าŽ ตรงจุดที่คณะสำรวจได้เลือก เนื่องจากต้นน้ำลำตะคองจะไหลมายังน้ำตกเหวสุวัต แล้วไหลลงมาตามลำตะคอง ผ่าน อ.ปากช่อง ลงสู่เขื่อนลำตะคอง ผ่าน อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.เมือง แล้วลงสู่แม่น้ำมูล จึงเชื่อได้ว่าแหล่งน้ำแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ สะอาด และศักดิ์สิทธิ์

โดยจะมีการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำทั่วประเทศ และทำพิธีอภิเษกบริเวณน้ำตกเหวสุวัต ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และทำพิธีเสกน้ำในวัดตามพื้นที่ต่างๆ และในวันที่ 18 เมษายน จะทำพิธีเสกน้ำ และพิธีอภิเษกน้ำ ณ พระวิหารหลวง วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร จ.นครราชสีมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image