หน่วยซีล-ปภ.เริ่มเก็บกู้อุปกรณ์ช่วยทีมหมูป่าฯ ตกค้างถ้ำหลวง

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล กองทัพเรือ พร้อมด้วย พร้อมด้วยนายไพฑูรย์นาคแท้ ผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย นายกวี ประสมพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอนและ นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 15 เชียราย นำทีมเจ้าหน้าที่ในสังกัด พร้อมด้วยอาสาสมัครศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยพิบัติจังหวัดเชียงราย จำนวนกว่า 200 คน ร่วมถวายเครื่องสักการะและขอขมาต่อศาลเจ้าแม่นางนอน ดวงวิญญาณ นาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำหลวง ก่อนปฏิบัติภารกิจเก็บกู้ทรัพยากรกู้ภัยที่ตกค้างภายในถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ระยะแรก

จากการสำรวจอุปกรณ์กู้ภัยที่ตกค้างในถ้ำหลวง เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา บริเวณโถงแรก โถงที่ 2 และโถงที่ 3 น้ำได้แห้งแล้ว แต่ในทางเดินจากโถงที่ 3 ผ่านสามแยกไปทางพัทยาบีช-เนินนมสาว ที่อยู่ห่างไปอีกประมาณ 700 เมตรยังมีน้ำและทรายทับถมอยู่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสำรวจอุปกรณ์ต่อไปได้ โดยพบว่าภายในถ้ำมีอุปกรณ์ตกค้างจำนวนมาก โดยเฉพาะโถงที่ 3 ซึ่งใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการขณะเกิดเหตุ และโถงที่ 2 ที่เป็นโถงใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ประกอบด้วย สายไฟฟ้า ท่ออากาศ วิทยุสื่อสาร ถังออกซิเจนกว่า 300 ถัง เครื่องสูบน้ำ กระดาษฟอยล์ อาหารเพาเวอร์เจล เปลสนาม และเชือกที่ใช้สำหรับเชื่อมโยงเส้นทางภายในถ้ำ

ด้านกองอำนวยการฯ และคณะทำงานบูรณาการปรับปรุงฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน ( เตรียมการ) ได้ประเมินสถานการณ์ในประชุมแล้ว มีข้อสรุปว่าช่วงเวลานี้ที่มีน้ำน้อยเหมาะสมต่อการระดมกำลังเพื่อจะเข้าไปปฏิบัติการขนย้ายอุปกรณ์ในการกู้ภัยของหน่วยซีลทั้งหมดออกมาได้อย่างปลอดภัย

Advertisement

แผนการเก็บกู้ทรัพยากรกู้ภัยที่ตกค้างในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนในระยะแรกนั้น จะเป็นการเก็บกู้อุปกรณ์กู้ภัยของหน่วยซีล โดยกำหนดระยะแรกตั้งแต่วันที่ 18-20 มี.ค.นี้ รวมระยะเวลา 3 วัน มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการการเก็บกู้ทรัพยากรกู้ภัยที่ตกค้างในถ้ำหลวงนางนอน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นผู้บัญชาการ แบ่งการปฏิบัติงานเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยส่วนอำนวยการ ทำหน้าที่บัชญาการ ประสานงาน และควบคุมการปฏิบัติภารกิจในภาพรวม ส่วนปฏิบัติการ ทำหน้าที่ปฏิบัติภารกิจเก็บกู้อุปกรณ์ในถ้ำหลวง และบริเวณปากถ้ำ และส่วนสนับสนุน ปฏิบัติภารกิจ จัดเตรียมอาหาร อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเก็บกู้ และยานพาหนะ

นอกจากนี้ยังมีหน่วยปฐมพยาบาล นำโดยแพทย์หญิง นิชานันท์ ศรีสุข พร้อมทีมพยาบาลโรงพยาบาลแม่สาย ร่วมกับทีมกู้ภัยสมาคมศิริกรณ์ เชียงราย เตรียมพร้อมปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดกรณีมีผู้บาดเจ็บในการเก็บกู้ทรัพยากรในครั้งนี้ด้วยทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานเก็บกู้ทรัพยากรตกค้างของเจ้าหน้าที่ในระยะแรก ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย จึงได้ประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณถ้ำหลวง ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 20 มีนาคม 2562 ส่วนการปฏิบัติการเก็บกู้อุปกรณ์กู้ภัยตกค้างในถ้ำหลวง ระยะที่ 2 จะดำเนินการระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค.นี้ โดยทางอุทยานฯ จะออกประกาศต่อไปอย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเที่ยวชมบริเวณอื่น โดยเฉพาะขุนน้ำนางนอน หรือสระน้ำมรกต ที่อยู่ห่างไปประมาณ 2 กิโลเมตรได้ตามปกติ

Advertisement

ทั้งนี้ทีมสนับสนุนการเก็บกู้ทรัพยากรกู้ภัยที่ตกค้างในถ้ำหลวง-ขุนนางนอน นำโดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อาสาสมัครศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยพิบัติจังหวัดเชียงราย เข้าจัดเตรียมพื้นที่พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเก็บกู้อุปกรณ์กู้ภัยที่ตกค้างภายในถ้ำหลวงจากเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี่ที่ผ่านมา โดยมีการจัดเตรียม ไฟฉาย ถุงมือ หมวกนิรภัย มอก. ไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณปากถ้ำซึ่งจัดเตรียมให้เป็นศูนย์บัญชาการส่วนปฏิบัติการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการเก็บกู้อุปกรณ์ให้แก่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล กองทัพเรือ เข้ามาเก็บกู้อุปกรณ์ที่ตกค้างในถ้ำหลวงให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image