แห่แชร์คลิป ‘ฉลามวาฬ’ โผล่อวดโฉมว่ายวนข้างเรือ บริเวณร่องน้ำเกาะราชา (คลิป)

แห่แชร์คลิป ‘ฉลามวาฬ’ โผล่อวดโฉมว่ายวนข้างเรือ บริเวณร่องน้ำเกาะราชา (คลิป)

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ จ.ภูเก็ต ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โซเชียลมีเดียของภูเก็ต ได้มีการแชร์วิดีโอคลิปความยาวประมาณ 27 วินาที ซึ่งเป็นภาพขณะที่ฉลามวาฬตัวใหญ่กำลังว่ายวนรอบเรืออย่างช้าๆ โดยมีเหาฉลามเกาะที่บริเวณครีบด้านขวา ซึ่งจากการสอบถามเบื้องต้นทราบว่า ภาพดังกล่าวถูกถ่ายไว้โดยนายมู่หนีด มาตศรี กัปตันเรือนิชากร 2 และนายอนุศักดิ์ สกุณา นายท้ายเรือ หลังจากที่พบเจอเข้าโดยบังเอิญขณะจอดเรือลอยลำให้นักท่องเที่ยวตกปลาหน้าดิน บริเวณร่องน้ำของเกาะราชาน้อย – ราชาใหญ่ เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา โดยฉลามวาฬตัวดังกล่าวได้เข้ามาว่ายวนรอบเรือนานเกือบครึ่งชั่วโมง ก่อนจะดำหายไป

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับฉลามวาฬ (Whale Shark) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhincodon typus ฉลามวาฬเป็นสัตว์เลือดเย็นเหมือนกับปลาทั่วไป คือมีอุณหภูมิร่างกายใกล้เคียงกับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ โดยฉลามวาฬยังได้จัดอันดับให้เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ไม่ใช่วาฬเพราะวาฬเป็นสัตว์เลือดอุ่นซึ่งมีอุณหภูมิร่างกายคงที่ไม่ใช่ปลา) ฉลามวาฬโตเต็มที่มีขนาดความยาวประมาณ 12.5 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 21.5 ตัน ฉลามวาฬแม้ว่าเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่อาหารที่มันกินนับได้เป็นอาหารเกือบจะมีขนาดเล็กที่สุดคือมันกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ฉลามวาฬจะกินอาหารโดยการว่ายน้ำอ้าปากให้น้ำไหลเข้าปากแล้วใช้ซี่เหงือกกรองแพลงก์ตอนจำพวก โคพีปอด (copepods) คริลล์ (krill) ไข่ปลา ตัวอ่อนสัตว์น้ำ และลูกหมึกและปลาขนาดเล็ก

ฉลามวาฬพบแพร่กระจายในทะเลในเขตร้อนและเขตบอุ่น ประเทศไทยของเราพบฉลามวาฬได้ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ปัจจุบันสถานภาพฉลามวาฬได้รับการประเมินสถานภาพเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Red List of Threatened Species) ของ IUCN ล่าสุดได้ปรับให้ฉลามวาฬซึ่งมีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) และได้ขยับเป็น ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) แล้ว โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฉลามวาฬลดจำนวนลงคือจากการทำการประมง แม้ว่าตัวฉลามวาเองจะไม่ใช่เป้าหมายหลักแต่มันก็ติดเครื่องมือประมงบ่อยและครีบของมันก็มีขนาดใหญ่และราคาดี อีกสาเหตุหนึ่งคือการนิยมดำน้ำดูฉลามวาฬซึ่งทำให้เรือเข้าไปใกล้ฉลามวาฬและถูกเรือชนเป็นประจำ นอกจากนี้ แล้วปัญหาเรื่องไมโครพลาสติกที่ติดมากับแพลงก์ตอน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารพิษที่สะสมอยู่ในไมโครพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางชีวภาพ และส่งผลเสียต่อชีววิทยาการสืบพันธุ์ของฉลามวาฬได้

สำหรับที่จังหวัดภูเก็ตปัจจุบันสามารถพบเห็นฉลามวาฬได้บ่อยครั้ง ตามเกาะแก่งต่างๆ นอกชายฝั่งทะเล และมีแนวโน้มพบเห็นเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่รัฐบาลเข้ามาดูแลจัดการและออกนโยบายเข้มงวดด้านการประมง ส่งผลให้ทรัพยากรทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น และการรณรงค์ไม่จับสัตว์ทะเลหายากจากเครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ จึงทำให้มีประชากรฉลามวาฬเข้ามาอาศัยเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image