โพลม.หาดใหญ่ชี้เลือกตั้งทำ14จว.ใต้วิตกจับขั้วตั้งรัฐบาล ‘ระเบิด’ สตูล-พัทลุง ฉุดความเชื่อมั่น

วันที่ 1 เมษายน ผศ.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ 420 ตัวอย่าง ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่าโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

“ปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งประเทศ ในวันที่ 24 มีนาคม ที่ดำเนินการสำเร็จ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ ในการลงทุนและดำเนินธุรกิจ ความเชื่อมั่นของประชาชนที่คาดหวังว่า หลังจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลใหม่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ธุรกิจ การค้าขาย และรายได้ของประชาชนให้ดีขึ้นได้” ผศ.วิวัฒน์ กล่าว

ผศ.วิวัฒน์ เปิดเผยว่า ประชาชนยังคงกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด และขั้วการเมืองใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งจะมีเสถียรภาพทางการเมืองมากน้อยเพียงใด ประชาชนมีความต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำของรายได้และชนชั้น ความขัดแย้งของคนในประเทศ และทำให้คนไทยกินดีอยู่ดี มีความสุขอย่างแท้จริง

“ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ผศ.วิวัฒน์ กล่าวและว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตการเกษตรของประชาชนซึ่งผลิตได้น้อย เนื่องจากสภาวะแห้งแล้งติดต่อกันหลายเดือน ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง ส่งผลต่อการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนน้อยลง

Advertisement

“ปัญหาเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดใน จ.สตูล และ จ.พัทลุง ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง เนื่องจากประชาชนคาดว่าอาจจะเป็นเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือความขัดแย้งทางการเมือง ผลการสอบสวนที่ชัดเจนของภาครัฐจะทำให้ประชาชนคลายความกังวลลงได้” ผศ.วิวัฒน์ กล่าวและว่า ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.10 รายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.40 ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.10 และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.50 ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.20 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มร้อยละ 34.20 และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.80

“ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ ร้อยละ 27.20 รองลงมาราคาสินค้า ร้อยละ 25.10 และราคาพืชผลทางการเกษตรร้อยละ 14.90 และปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพและราคาสินค้า” ผศ.วิวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image