“นายกเมืองพัทยา” ใช้วิธีธรรมชาติสู้กับธรรมชาติแก้ไขปัญหาหลังฝนกระหน่ำพัทยา

จากที่เกิดฝนกระหน่ำเมืองพัทยาทำให้น้ำท่วมเมืองพัทยา จ.ชลบุรี หลายพื้นที่โดยเฉพาะเส้นถนนสุขุมวิท หน้าทางหลวงพัทยา ถนนพัทยาสาย 3 รวมถึงบริเวณชายหาดเมืองพัทยาที่มีการโครงการเสริมชายหาดพัทยาที่มีการทุ่มงบประมาณ 400 กว่าล้านบาทในการเสริมชายหาดตลอดแนวที่มีความกว้าง 35 เมตร ยาว 2800 เมตร โดยทางเมืองพัทยาได้ทำที่มีจุดระบายน้ำ 3 จุด ทำให้น้ำระบายอย่างรวดเร็วชายหาดได้รับความเสียหาย

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า จากการที่เกิดฝนตกหนักกว่าปกติ ทางเมืองพัทยาได้ตัดสินใจเปิดทางน้ำตามธรรมชาติจำนวน 3 จุด เพื่อไม่ให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม และเมื่อเกิดน้ำไหลลงทะเลได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทุกที่ใช้กันเช่นที่บางแสนเป็นต้น โดยจะเห็นได้ว่าน้ำระบายได้เร็วมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามปัญหาของการระบายน้ำนั้นเนื่องจากเมืองพัทยามีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เส้นทางน้ำน้อยลง ที่ผ่านมาทางผู้บริหารเมืองพัทยาได้เปิดจุดต่างๆที่มีการระบายน้ำ รวมถึงการรอกท่อน้ำเอาพวกขยะออก สำหรับระบบระบายน้ำของเมืองพัทยาที่มีอยู่นั้นพบว่าเป็นระบบเก่ามีการระบายน้ำไม่ถึง 1.50 เมตร มากกว่า 70% จึงต้องเปิดทางระบายน้ำโดยใช้เส้นทางน้ำแบบธรรมชาติ โดยหลังจากเกิดความเสียหายของชายหาดนั้นเมือมีน้ำไหลได้รับความเสียหายเราก็ใช้การซ่อมให้เหมือนปรกติที่ผ่านมาก็มีการวางแผนล่วงหน้าถ้าเกิดปัญหาโดยใช้วิธีธรรมชาติสู้กับธรรมชาติ โดยได้มีการสำรวจเส้นทางธรรมชาติจากเส้นทางน้ำจากหนองปรือ ห้วยใหญ่ กระทิงลาย ว่าเส้นทางน้ำระบายมาทางไหนเราพยายามเปิดจุดการระบายน้ำให้ใหญ่ขึ้น มีการสำรวจเส้นทางระบายน้ำเส้นทางให้น้ำสามารถไหลเร็วที่สุด โดยยืนยันว่าจุด 3 จุดนั้นเป็นจุดระบายน้ำแบบธรรมชาติ เพราะถ้าไม่เปิดก็จะทำให้น้ำท่วมไหลย้อนกลับหาชาวบ้านบริเวณชายหาด

“ตอนนี้ต้องทำให้น้ำบริเวณด้านบนจากห้วยใหญ่ หนองปรือ หนองเกตุใหญ่ ฝั่งด้านบนจะไม่ให้ไหลเทลงในเมืองพัทยากลายเป็นที่รับน้ำ โดยจะใช้คลองต่างๆในเมืองพัทยาเพื่อระบายน้ำ โดยตอนนี้บริเวณทางรถไฟกับถนนสุขุมวิท มาเพื่อพักน้ำเพื่อระบายน้ำทางหลวงให้เร็วที่สุดทิศทางน้ำจะไปทางไหนเพื่อจะระบายตามธรรมชาติให้เร็วที่สุด โดยยืนยันว่าโครงสร้างของชายหาดนั้นไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด”นายสนธยากล่าว

นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคเมืองพัทยา จ.ชลบุรี กล่าวว่า จากกรณีพายุฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วงบ่ายวานนี้ ส่งผลให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลบ่าลงสู่พื้นที่ชายหาดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี จนทำให้ทรายที่มีการนำมาเสริมไว้ตลอดแนว 2.6 กม.ปริมาณกว่า 4.6 แสน ลบ.ม.จากพัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ที่กรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดด้วยงบประมาณ 400 กว่าล้านบาทซึ่งเพิ่งดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากผืนทรายถูกน้ำจากแนวฝั่งกัดเซาะไหลลงสู่ทะเลเป็นบริเวณกว้าง จึงได้มีคำสั่งด่วนให้ทางสำนักงานเจ้าท่าพัทยาเร่งประสานเมืองพัทยาซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ในช่วงค่ำของคืนที่ผ่านมาทั้ง 2 หน่วยงานได้นำกำลังบุคลากรและเครื่องมือหนักลงพื้นที่เพื่อนำรถแบ็คโฮไปตักทรายในทะเลที่ถูกน้ำซัดออกไปห่างจากฝั่งประมาณ 100-200 เมตร กลับมาเติมในร่องทรายและจุดที่ถูกน้ำเซาะ ซึ่งมีพื้นที่ตลอดแนวชายหาดจำนวน 11-12 จุด ซึ่งตลอดทั้งคืนก็สามารถแก้ไขปัญหาไปได้ส่วนหนึ่งเท่า นั้น เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องของปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง โดยในคืนวันนี้ (3 เม.ย.) ก็จะมีการนำกำลังลงไปดำเนินการต่อในช่วงที่น้ำลงสูงสุด โดยคาดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ก็จะสามารถคืนสภาพชายหาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

Advertisement

“ปัญหาเรื่องของน้ำหลากเป็นปัญหาที่ทางกรมเจ้าท่ารับทราบและเป็นห่วงมาตั้งแต่เริ่มโครงการ แต่ด้วยได้รับงบประมาณสนับสนุนแล้วและปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยาก็รุนแรงจึงต้องดำเนินการไปควบคู่กับเมืองพัทยาที่มีแผนในการแก้ไขปัญหาน้ำหลากและน้ำท่วมชายหาด ซึ่งได้ตั้งงบประมาณไว้จำนวน 105 ล้านบาทเพื่อจัดทำระบบโดยปัจจุบันโครงการนี้มีการประกวดราคา และจัดซื้อ จัดจ้างผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าคงจะดำเนินการได้ในเร็ววันนี้และจะสามารถจัดทำจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ได้ในระยะเวลา 1 ปี”นายเอกราชกล่าวและว่า สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นก็คงมีไม่มากนักแต่ด้วยมีน้ำหลากเกิดขึ้นหลายจุดจึงทำให้สภาพชายหาด ดูแล้วเกิดความเสียหายมาก อย่างไรก็ตามปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยานั้นมี 2 ปัจจัยทั้งจากปัญหาคลื่นลมจากทะเล และปัญหาน้ำหลากจากฝั่ง จึงมีข้อตกลงร่วมกันกับเมืองพัทยาที่จะร่วมกันป้องกันและปรับสภาพ โดยคาดว่ากรณีเหล่านี้จะส่งผลให้ชายหาดพัทยาถูกน้ำกัดเซาะไปเฉลี่ยปีละประมาณ 2-5 เมตร แต่ทางกรมเจ้าท่าก็ได้วางแผนระยะยาวไว้ว่าจะตั้งงบประมาณเพื่อเติมทรายครั้งใหญ่ในทุก 5-10 ปีอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image