‘มติชน-บึงกาฬ’ร่วมจัด เสวนา‘เสวยราชสมบัติกษัตรา’ เสริมความรู้-ความเข้าใจ ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’

ประชาชนคนไทยกำลังเข้าสู่ห้วงพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะจัดริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษก 500 คน พร้อมด้วยรถเชิญคนโทน้ำอภิเษก จากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และในวันที่ 19 เมษายน จะจัดริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษก จากวัดสุทัศนเทพวราราม ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง ซึ่ง จ.บึงกาฬ ได้มีพิธีตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วยนั้น

นิพนธ์ คนขยัน

นายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังมีพระราชพิธีสำคัญ คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 นับเป็นห้วงเวลาสำคัญสำหรับชาวไทยทั้งประเทศ ในส่วนของจังหวัดบึงกาฬ กระทรวงมหาดไทยให้จังหวัดบึงกาฬเตรียมการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจังหวัดจึงมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ เตรียมจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

“แต่เนื่องด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีสำคัญ มีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้งด้วยความหมายต่างๆ สิ่งของที่ใช้ในพระราชพิธีล้วนแต่เป็นมรดกล้ำค่ามาแต่โบราณ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญ ลำดับขั้นตอนตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี และองค์ประกอบของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำนักปลัด อบจ.บึงกาฬ จึงจัดโครงการจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้และส่งเสริมความเข้าใจพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจัดระหว่างวันที่ 19 เมษายน-6 พฤษภาคม 2562 ที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดบึงกาฬ” เพื่อเป็นการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์, เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเพื่อบำรุง รักษาจารีตประเพณี วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และของชาติ ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีจัดทำน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง” นายนิพนธ์กล่าว และว่า

Advertisement

สำหรับกิจกรรมในโครงการดังกล่าว จะมีพิธีเปิดในวันที่ 19 เมษายน 2532 เวลา 09.00 น. นอกเหนือจากการรวบรวมความรู้ที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดงให้ประชาชนแล้ว ในงานจะมีพิธีถวายราชสักการะ เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังได้ร่วมกับเครือมติชน จัดการเสวนา “เสวยราชสมบัติกษัตรา” ให้ความรู้ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี แต่ละรัชสมัยในอดีต ซึ่งมีทั้งความหมายสำคัญของพระราชพิธี ขั้นตอน สถานที่ประกอบพระราชพิธี ฯลฯ โดยมี ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มาให้ความรู้ประชาชน สำหรับชาวบึงกาฬ ประชาชนจังหวัดใกล้เคียง หรือผู้สนใจ สามารถเข้าชมนิทรรศการ และร่วมฟังการเสวนา ในวันและเวลาดังกล่าว

สำหรับพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาใช้ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก และน้ำสรงมุรธาภิเษก ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมี 2 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ภายใต้ฐานพระพุทธรูปบนหน้าผา ภายในน้ำตกถ้ำพระ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าภูวัว หมู่ที่ 9 บ้านถ้ำพระ ต.โสกก่าม อ.เซกา จ.บึงกาฬ และแห่งที่ 2 คือ พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง ตั้งอยู่บ้านคำสมบูรณ์ หมู่ที่ 3 ต.บึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง ซึ่ง นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร
ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับจังหวัดอื่นอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 6 เมษายน ตามเวลาฤกษ์ 11.52 น.

จากนั้นเชิญขันน้ำสาครจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 2 แห่งไปยังพระอุโบสถ วัดเซกาเจติยาราม พระอารามหลวง เพื่อประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกโดยมีพระสงฆ์ 30 รูป เจริญพระพุทธมนต์คาถา พระสงฆ์เถราจารย์และพระสงฆ์สวดภาณวาร และนั่งเจริญจิตภาวนา อธิษฐานจิต มีพระราชภาวนาโสภณ เจ้าอาวาสวัดเซกาเจติยาราม เจ้าคณะจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน 8 อำเภอของจังหวัดบึงกาฬ เข้าร่วมพิธีเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโอกาสอันเป็นมงคลพิธีประวัติศาสตร์ และเพื่อเป็นสิริมงคลของพสกนิกรชาวไทย หลังจากมีพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ก่อนเชิญคนโทน้ำอภิเษกไปเก็บรักษา ที่ห้องดอกแก้ว อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าประกอบพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม ณ พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม ตามขั้นตอนต่อไป

๏๏๏ ๏๏๏ ๏๏๏ ๏๏๏

‘นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร’
ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ

“สืบเนื่องจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งให้จังหวัดพิจารณาสำรวจ สืบค้นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพเลื่อมใส แหล่งน้ำสำคัญของจังหวัด หรือแหล่งน้ำที่เคยใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จากการสำรวจ สืบค้น แหล่งน้ำที่เคยใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อปี 2554 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งมี 2 แห่ง คือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำพระ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว และพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง ตั้งอยู่บ้านคำสมบูรณ์ หมู่ 3 ต.บึงโขงหลง

ที่มาและความสำคัญของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำพระ คือ เมื่อปี พ.ศ.2491 พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์อ่อน, พระอาจารย์ทองสุข ได้เดินธุดงด์ไปวิเวกที่ภูวัวในท้องที่ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (ปัจจุบันอำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ) โดยพำนักเพื่อบำเพ็ญอยู่บน
ภูวัว บริเวณริมห้วยบางบาดที่มีลานหินกว้างใหญ่ มีที่สำหรับบำเพ็ญภาวนาอย่างเหมาะสม ร่มรื่นและสงบเป็นอันมาก ท่านพระอาจารย์ทั้ง 3 ท่านได้พักบำเพ็ญวิเวกอยู่ประมาณ 2 เดือนเศษ พระอาจารย์ทองสุข จึงออกความเห็นว่าควรทำอะไรเป็นที่ระลึกในสถานที่นั้นสักอย่าง บังเอิญบนที่พักสูงเป็นหน้าผา เหมาะสำหรับสร้างพระประธานไว้สักการบูชา พระอาจารย์ฝั้นจึงตกลงสร้างพระพุทธรูปบนหน้าผาด้วยวัสดุที่หาได้ง่าย เช่น มูลช้าง มูลวัว โดยมีพระอาจารย์ฝั้นและพระอาจารย์ทองสุขเป็นผู้ลงมือปั้น โดยบริเวณรูปปั้นจะมีน้ำหยดลงมาที่บ่อด้านล่าง ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์

ส่วน “บึงโขงหลง” เป็นบึงน้ำจืดลักษณะแคบยาว รูปเขาวัวแคบๆ เกิดขึ้นจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกัน มีความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 50-100 เซนติเมตร จุดที่ลึกที่สุด 6 เมตร มีพื้นที่กว่า 8,062 ไร่ หรือ (12.89 ตารางกิโลเมตร) เป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติที่รวบรวมลำห้วยน้อยใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบแม่น้ำสงครามก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง

เมื่อปี พ.ศ.2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาโครงการเก็บกักน้ำเพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติให้ได้มีน้ำใช้ตลอดปี และช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผืนดินให้เหมาะกับการเพาะปลูก ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2523 ทำให้พื้นที่บึงโขงหลงขยายอาณาเขตเพิ่มมากขึ้น และประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง เมื่อปี พ.ศ.2525 สู่ความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2544 “บึงโขงหลง” ได้รับการเสนอขึ้นทะเบียนประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) ลำดับที่ 2 ของไทย และลำดับที่ 1,098 ของโลก ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมาก เพราะไม่เพียงเอื้อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงทางด้านอาหาร แต่ยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ช่วยดักจับตะกอนและแร่ธาตุ ดักจับสารพิษ และที่สำคัญคือเป็น แหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด และแหล่งรวมสายพันธุ์พืชที่หลากหลาย ส่งผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้คนใกล้และไกลบึงโขงหลง

นอกจากนี้แล้ว บึงโขงหลงยังเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านมีความเชื่อในเรื่องตำนานพญานาค โดยเชื่อกันว่าบึงโขงหลงเกิดจากการล่มเมืองของพญานาค ซึ่งเกิดความรักที่ไม่สมหวังระหว่างพญานาคกับมนุษย์ เดิมบริเวณแห่งนี้เป็นที่ตั้งของเมือง ชื่อรัตพานครและเชื่อว่ามีพญานาคมาปรากฏตัวให้เห็นและยังเป็นสถานที่ที่เกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image