เชียงใหม่เร่งทำเครื่องฟอกอากาศราคาประหยัด ส่งช่วยพื้นที่เสี่ยงภัยหมอกควัน

เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 21 เมษายน ร.ศ.โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมคณะทำงานโครงการ “ส่งต่อลมหายใจสู้ภัยฝุ่นควัน” ร่วมกันจัดทำเครื่องฟอกอากาศราคาประหยัด จำนวน 270 เครื่อง เพื่อส่งมอบให้กับพื้นที่เสี่ยงภัยสถานการณ์หมอกควัน ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พ.อ.บุญญฤทธิ์ เกษตรเวทิน รอง ผอ.รมน. จังหวัดเชียงใหม่ ผ.ศ.ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกิจกรรม ณ พื้นที่ปลอดภัยฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่ (Safety Zone) อาคาร SME ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่

โดย ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ วิศวกรผู้ประดิษฐ์เครื่องกรองอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สอนวิธีการทำเครื่องฟอกอากาศในราคาประหยัด ซึ่งใช้พัดลมดูดอากาศและไส้กรองอากาศยี่ห้อหนึ่งในการจัดทำ ซึ่งจะใช้ได้ผลกับห้องที่ปิดมิดชิด ขนาดพื้นที่ประมาณ 20-30 ตารางเมตร หรือขนาดห้องนอน 1 ห้อง มีนายทหารจากมณฑลทหารบก (มทบ.) 33 และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมจัดทำเครื่องฟอกอากาศ

โดยวานนี้มีฝนตกลงมาอย่างหนักกว่า 1 ชั่วโมง ในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ แม้จะทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลง แต่คุณภาพอากาศเช้านี้ยังมีค่าอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่า AQI เฉลี่ย 24 ชั่วโมงมีค่าระหว่าง 103-157 มคก./ลบ.ม. ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงมีค่าระหว่าง 51-73 มคก./ลบ.ม. และค่า PM 10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 77-112 มคก./ลบ.ม. ประชาชนควรงดทำกิจกรรมนอกอาคารเช่นเดิม

และจากพิษพายุดังกล่าวส่งผลให้เกิดต้นไม้หักโค่น หม้อแปลงระเบิด ป้ายโฆษณาล้มทับเสาไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ และกำลังรอบนอกนานนับ 3-5 ชั่วโมง กระเบื้องหลังคาบ้านเรือนเสียหาย 1,400 หลัง ในพื้นที่ อ.หางดง กระเบื้องเสียหาย 7 หลังคาเรือน อ.แม่วาง และ 9 หลังคาเรือน อ.อมก๋อย ขณะนี้เจ้าหน้าที่เร่งให้ความช่วยเหลือแล้ว

Advertisement

ทั้งนี้ศูนย์ควบคุมและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าจังหวัดภาคเหนือ ได้สรุปรายงานจุดความร้อน หรือ Hotspot จำนวน 351 จุด จากข้อมูลดาวเทียมระบบ VIIRS เชียงราย จำนวน 137 จุด ตาก จำนวน 52 จุด แพร่ จำนวน 44 จุด ลำปาง จำนวน 37 จุด เชียงใหม่ จำนวน 30 จุด แม่ฮ่องสอน จำนวน 23 จุด น่าน จำนวน 15 จุด พะเยา จำนวน 12 จุด และลำพูน จำนวน 1 จุด ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image