ชาวนาโคราชยอมเสี่ยงหว่านข้าวแห้งรอฝน หลังประสบกับภัยแล้งยาวนาน กลัวไม่ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยว

ชาวนาโคราชยอมเสี่ยงหว่านข้าวแห้งรอฝน หลังในพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งยาวนาน กลัวไม่ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ขณะที่น้ำใช้การได้ของ 5 เขื่อนหลักใหญ่โคราช เฉลี่ยเหลือ 33 % เท่านั้น

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ชาวนาในพื้นที่ตำบลดอนตะหนิน อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ต่างพากันไถปรับดิน และหว่านข้าวบนผืนดินที่แห้งแล้ง ซึ่งที่ชาวนาเรียกกันว่า “หว่านแห้ง” บนพื้นที่นาหลายร้อยไร่ หลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูทำนาปี มาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับปลูกข้าว เนื่องจากปีนี้ฝนทิ้งช่วงนานจึงทำให้คลองธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เหลือน้ำน้อย ทางสำนักชลประทานที่ 8 จึงงดจ่ายน้ำลงสู่คลองธรรมชาติ พร้อมทั้งประกาศให้เกษตรกรเลื่อนการทำนาปีไปอย่างไม่มีกำหนด

โดยนายอิ่ม กรวยสวัสดิ์ อายุ 53 ปี ชาวนาตำบลดอนตะหนิน เปิดเผยว่า ปีนี้ได้ลงทุนปลูกข้าวนาปี จำนวน 49 ไร่ โดยแต่ละทุกปีจะหว่านข้าวนาปีตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนแล้ว แต่ปีนี้น้ำในคลองต่างๆ แห้งขอด ไม่สามารถสูบขึ้นมาใส่นาเพื่อที่จะหว่านข้าวได้ เพราะภาวะฝนทิ้งช่วงนาน ซึ่งหากรอนานกว่านี้ จะไม่ทันในฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี จึงตัดสินใจยอมเสี่ยงหว่านข้าวแห้งเพื่อรอคอยฝนที่อาจจะตกลงมาบ้างในช่วงนี้

Advertisement

ขณะที่ปริมาณน้ำภายใน 5 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ปริมาณน้ำใช้การได้ของทุกอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์น้อย เฉลี่ยทั้ง 5 อ่างฯ เหลือน้ำใช้การประมาณ 33 % โดยอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหลักสำหรับกักเก็บน้ำดิบไว้ผลิตประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคใน 5 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุด มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 175 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 56 % ของความจุกักเก็บ โดยเป็นน้ำใช้การได้ 152 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียง 52 % ของความจุกักเก็บ ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ยิ่งวิกฤติหนักเหลือน้ำใช้การได้เพียง 27 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 17 % เท่านั้น ,อ่างเก็บน้ำลำนางรอง เหลือน้ำใช้การได้ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 28 % , อ่างเก็บน้ำลำมูลบน เหลือน้ำใช้การได้ 39 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 29 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ เหลือน้ำใช้การได้ 103 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38 %

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image