สวนยางนครพนมเมินจุดรับซื้อรบ. ขนยางขายให้เอกชน รับไม่จำกัด-ได้เงินสดทันที

วันที่ 27 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม บรรยากาศการเปิดรับซื้อยางพาราตามนโยบายของรัฐบาล ยังคงสร้างความสับสน และยังไม่เป็นที่พอใจให้กับเกษตรกรสวนยาง ส่งผลให้จุดรับซื้อในพื้นที่ กำหนดไว้ จำนวน 10 จุด ตามอำเภอต่างๆ ที่มีการหมุนเวียนรับซื้อ พบว่ามีเกษตรกรให้ความสนใจน้อยมาก เพราะยังมีความสับสนและไม่เข้าใจในการรับซื้อ เนื่องจากมีขั้นตอนยุ่งยากในการ นำยางพาราไปจำหน่าย ที่ต้องมีการขึ้นทะเบียนตามคิว รวมถึงมีการจำกัดจำนวนการขาย รายละไม่เกิน 150 กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรบางรายที่ไม่เข้าใจ เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ เสียเวลานำยางพารามาขายตามจุดรับซื้อ กลับต้องผิดหวังทั้งเรื่อง ปริมาณขายที่จำกัด รวมถึงปัญหาล่าช้าในการรับเงินหลังการขาย ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ต่างพากันนำยางพาราไปขายตามจุดรับซื้อของเอกชนเพื่อนำเงินมาหมุนเวียน ถึงแม้จะถูกกดราคา แต่ยอมขายขาดทุนเพราะบางรายต้องการเงินสดมาหมุนเวียนใช้จ่ายแก้ไขปัญหา ที่แบกภาระจากปัญหายางพาราราคาตกต่ำมานาน โดยในส่วนของจุดรับซื้อตามโครงการรัฐบาล จะรับซื้อยางก้อนถ้วยในราคา กิโลกรัมละ 41 บาท แต่จะต้องเป็นยางแห้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีความชิ้น 50 เปอร์เซ็นต์ จะซื้อราคากิโลกรัมละ 22 บาท ส่วนยางแผ่นดิบ จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ ประมาณ 54 บาท ส่วนจุดรับซื้อเอกชน จะซื้อในราคาถูกกว่าเท่าตัว ในราคายางก้อนถ้วย ประมาณ กิโลกรัมละ 20 บาท แต่เกษตรกรยอมขาย เพราะได้เงินสด และรับซื้อไม่จำกัด

ด้านนายวิชิต สมรฤทธิ์ เกษตรกรสวนยางพารา ชาว อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ในฐานะประธานเครือข่ายยางพาราภาคอีสานออกมาเปิดเผยว่า ตนในฐานะที่เป็นประธานเครือข่ายชาวสวนยางในพื้นที่ ภาคอีสาน 4 จังหวัด มี นครพนม มุกดาหาร สกลนคร และกาฬสินธุ์ มีเกษตรกรในเครือข่าย มากกว่า 2 แสนราย มีพื้นที่ปลูกยางไม่ต่ำกว่า 5 แสนไร่ ในส่วนของ จ.นครพนม มีมากกว่า 3 แสนไร่ เปิดกรีดประมาณ 2 แสนไร่ ถือเป็นอาชีพหลักสำคัญของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำมายาวนาน บางรายเป็นหนี้ ไม่มีความสามารถในการชำระคืน เพราะราคายางต่ำกว่าต้นทุน ล่าสุดถึงแม้รัฐบาลจะหาแนวทางในการช่วยเหลือ ในการขึ้นราคา และเปิดจุดรับซื้อ ตนยังมองว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ใช่ทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหา เพราะหลังจากเปิดรับซื้อ ทำให้เกษตรกรผิดหวังซ้ำเข้าไปอีก เพราะมีปัญหาหลักๆ คือ มีขั้นตอนเงื่อนไขที่ยุ่งยากในการขึ้นทะเบียนขาย ส่วนใหญ่ขาดการประชาสัมพันธ์ทำให้เกษตรกรไม่เข้าใจ

201601270930131-20111216140823

นอกจากนี้ ยังรวมถึงปัญหาเรื่องการจำกัดปริมาณการขายคนละประมาณ 150 กิโลกรัม ได้แค่ครั้งเดียว แต่ยางพารามีจำนวนมาก หนำซ้ำยังไม่ได้เงินสดต้องรอรับเงินทีหลัง มีปัญหาล่าช้าอีก ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สนใจ พากันไปขายกับเอกชน เพราะได้เงินสดมาหมุนเวียน ถึงจะถูกกดราคา หรือถูกกว่า แต่ยังมีเงินมาหมุนเวียนแก้ไขปัญหา ใช้จ่ายในครัวเรือน โดยรัฐบาลซื้อยางก้อนถ้วย แห้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ประมาณกิโลกรัมละ 41 บาท แต่ซื้อจำกัด ในส่วนของเอกชนซื้อประมาณ กิโลกรัมละ 20 บาท แต่รับเงินสด และไม่จำกัด อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือ ให้สามารถช่วยเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยาก และเร่งหาแนวทางในการแปรรูปยางพาราไว้ใช้ในประเทศให้มากที่สุด รวมถึงหาทางชะลอส่งออก เพื่อดึงราคายางพารา เพราะหากไม่แก้ไขจริงจัง จะกลายเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ได้โอกาสกดราคาซื้อจากเกษตรกร และในการช่วยเหลือจะต้องมองภาพรวม ให้ทุกภาคให้ได้ประโยชน์ด้วยกัน เพราะปัจจุบันภาคอีสานมีเกษตรกรจำนวนมากที่ปลูกยางพารา วอนหาทางแก้ไขเร่งด่วน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image