“สสจ.พะเยา” รณรงค์ป้องกัน “ไข้เลือดออก” ชี้ปี 62 ครบรอบการระบาดต้องระวังอย่างหนัก

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน เนื่องจากถึงแม้จะอยู่ในช่วงหน้าร้อน แต่สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทำให้ในบางพื้นที่เกิดฝนตกได้ จึงทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ อันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย

นายแพทย์ไกรสุข เพชระบูรณิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) พะเยา กล่าวเตือนประชาชนถึงเรื่องโรคไข้เลือดออกว่า หลายพื้นที่เกิดพายุฤดูร้อนเป็นสาเหตุให้มีฝนตกและมีน้ำขังหลายแห่งทำให้ยุงลายมาวางไข่ โดยเฉพาะช่วงนี้โรงเรียนเริ่มเปิดเทอม อาจทำให้นักเรียนเสี่ยงเป็น โรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสูงที่สุดและขอให้แนะประชาชนสังเกตอาการป่วยของตนเองและคนในครอบครัว หากมีไข้สูง 2-3 วันไม่หาย หรือไม่ดีขึ้น ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ควรไปฉีดยาลดไข้หรือซื้อยากินเอง

นายแพทย์ไกรสุข กล่าวต่อว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในภาพรวมทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 พฤษภาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วยสะสม จำนวน 20,733 ราย อัตราป่วยเท่ากับ 31.39 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน 25 ราย อัตราตายเท่ากับ 0.04 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.12 ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ อัตราป่วยเท่ากับ 39.14 ต่อประชากรแสนคน สำหรับจังหวัดพะเยา ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -15 พฤษภาคม2562 มีรายงานผู้ป่วย 37 ราย อัตราป่วย7.92 ต่อแสนประชากร เป็นลำดับที่ 75 ของประเทศ และจากการติดตามรายพื้นที่ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีตำบลที่มีผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐานหรือเกิดการระบาด 2 ตำบลคือ ต.น้ำแวน อ.เชียงคำ และ ต.สว่างอารมณ์ อ.ดอกคำใต้

“เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ครบรอบการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะมีรอบการระบาด 1 ปี เว้น 2 ปี ดังนั้นทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพะเยา ให้ความสำคัญและได้มีมติให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและมีการกำกับ ติดตาม อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเน้นหนักให้พื้นที่เป้าหมาย 6 ร คือ 1.โรงเรือนหรือบ้าน 2.โรงเรียน 3.โรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุข 4.โรงธรรม /วัด ศาสนสถาน/ที่สาธารณะ 5.โรงงาน และ 6. โรงแรม เร่งกำจัดภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1. เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค ในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกาและ 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย” นายแพทย์ไกรสุข กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image