พาณิชย์ชะลออนุมัตินำเข้ามะพร้าวจากอินโดฯ รอรัฐมนตรีใหม่ตัดสินใจ

วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว อ.บางสะพาน จ.ประขวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า กรณีกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมกะทินำเข้ามะพร้าวผลจากประเทศอินโดนีเซียนั้น ล่าสุดทราบว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าว กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าจะไม่อนุมัติให้มีการนำเข้าอีกตามคำขอของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมจนกว่าจะมีรัฐมนตรีคนใหม่มารับหน้าที่ ขณะที่เครือข่ายฯได้ทำหนังสือสอบถามจำนวนมะพร้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากเชื่อว่าจำนวนผลผลิตในประเทศขณะนี้มีเพียงพอ แต่มีปัญหามาจากกรณีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเงื่อนไขรับซื้อมะพร้าวปอกเปลือกราคาผลละ 8 บาท ส่งถึงหน้าโรงงาน ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถดำเนินการได้

“เร็วๆนี้จะยื่นหนังสือถึงมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ตรวจสอบการผลิตน้ำกะทิกล่องสำเร็จรูปในประเทศกรณีมีสารตกค้างหรือสารฟอกขาว รวมทั้งประสานงานกับตลาดรับซื้อในต่างประเทศที่ซื้อผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยให้รับทราบข้อมูลหลังจากโรงงานแจ้งว่าเป็นโปรดักซ์ออฟไทยแลนด์ แต่ในข้อเท็จจริงน่าจะเป็นการย้อมแมว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไม่ได้ใช้มะพร้าวไทยผลิตทั้งหมด ดังนั้นผู้ส่งออกจึงควรระบุให้ชัดว่าวัตถุดิบที่นำไปผลิตใช้สัดส่วนของมะพร้าวไทยกี่เปอร์เซนต์”นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

นายสายชล จ้อยร่อย เจ้าของ บริษัท นิลทองแท้ จำกัด ผู้ผลิตมะพร้าวขาวรายใหญ่สุดในประเทศ ที่หมู่ 3 ต.อ่างทอง อ.ทับสะแก กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยจากการนำมะพร้าวเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่ผลผลิตในประเทศยังมีเพียงพอแต่มีปัญหาในระบบการซื้อขายวัตถุดิบ เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายต้องสั่งนำเข้ามาจากการปั่นราคาของ”ล้ง”มะพร้าวบางแห่ง ต้องการจำหน่ายผลผลิตในราคาสูงเพื่อเอากำไร แต่ไม่สอดคล้องกับราคาที่โรงงานทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในระยะ 3 – 6 เดือนกับตลาดต่างประเทศ จึงทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก

นายสายชล กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานของบริษัทที่ อ.ทับสะแก เปิดรับซื้อมะพร้าวทั้งเปลือกคละผลโดยการชั่งขายกิโลกรัมละ 3.30 บาท แทนการซื้อตามขนาดผลเพื่อลดปัญหาการเอาเปรียบชาวสวนจากการซื้อ 100 ผลแถม 10 ผล ตั้งแต่สถานการณ์ราคามะพร้าวตกต่ำเมื่อหลายเดือนก่อน และได้แจ้งให้ชาวสวนมะพร้าวยึดหลักพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนจากการขายให้”ล้ง”ตามวิธีการเดิม เพื่อนำผลผลิตไปขายเอากำไรจากการซื้อ 100 ผลแถมอีก 10 ผล โดยขอให้ชาวสวนทยอยเก็บผลผลิตเพื่อจำหน่ายตรงให้กับโรงงาน แทนการเก็บผลิตครั้งเดียวจำนวนมากเพื่อขายผ่าน “ล้ง “ จะทำให้ชาวสวนมีรายได้เพิ่มจากราคาต้นทุนต่อผล 1-2 บาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image