กงสุลใหญ่ฯย้ำ ความร่วมมือ ‘จีน-อาเซียน’ ช่วยทุกประเทศผ่านสงครามการค้าได้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 พฤษภาคม ที่ห้องเพชรรัตน์ ชั้น 3 โรงแรมดิเอ็มเพรส อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายเหริน ยี่ เซิง กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของจีนและความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ในการพบปะสื่อมวลชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ในวาระความสำเร็จอันรุ่งโรจน์ครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน กับความร่วมมือระหว่างประเทศ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ และ 44 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ว่า ประเทศจีนผ่านความยากลำบาก แต่สามารถลุกขึ้นยืนและกลายเป็นประเทศที่มั่นคงด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในยุคแรกรัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาจากการทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข และภายใน 30 ปี ชาวจีนเริ่มร่ำรวยขึ้น ส่งผลให้อัตราการเติบโตอยู่ที่ 9.9% ก่อนจะก้าวกระโดดขึ้นเป็นเลขสองหลักยาวมาถึง 30 ปี ด้วยผลผลิตทางเศรษฐกิจ โดยรวม 225 เท่า เรียกว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลก เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งที่เซิ่นเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ จากการปฏิรูปและเปิดประเทศ จนปัจจุบันเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็ง ภายใต้การพัฒนาแบบมีอัตลักษณ์ของตนเอง

“ในช่วง 70 ปี ด้วยความมุ่งมั่นจนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยจีดีพี 90 ล้านล้านหยวน หรือ 13.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากประชากรที่ยากจน 770 ล้านคนทั่วประเทศ ปัจจุบันเหลือคนยากจนเพียง 16.6 ล้านคนในชนบทเท่านั้น และเราหวังว่าในปี 2020 จะทำให้คนจนหมดไปให้ได้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข พร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ทั้งดาวเทียม ยานอวกาศ การสำรวจดวงจันทร์ ระบบนำทางด้วยดาวเทียม Beidou การสำรวจทะเลลึก รถไฟความเร็วสูง อากาศยานไร้คนขับ 5G และหัวเว่ย ซึ่งเป็นพลังอำนาจที่ทำให้บางประเทศอิจฉา และมั่นใจว่าในอนาคตอันใกล้ ประเทศต่างๆ จะสู้เทคโนโลยีของหัวเว่ยไม่ได้เลย ทุกอย่างล้วนมาจากการร่วมกันต่อสู้ ไม่ใช่สวรรค์ประทาน เพราะคนจีนมีคำพูดที่ว่า เป็นไปไม่ได้จะต้องกลายเป็นไปได้”

นายเหริน ยี่ เซิง กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ว่า เหมาะสมกับการพัฒนาในโลกปัจจุบัน ด้วยแนวคิดร่วมมือ สร้างสรรค์ และแบ่งปัน ด้วยความยุติธรรม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศที่นำมาเชื่อมโยงกันทั้งโลกอย่างมีประสิทธิภาพเกิดเป็นพลังผลักดันเศรษฐกิจโลกอย่างมีกำลัง แม้ว่า ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ จะมาจากแนวคิดของจีน แต่ความสำเร็จเกิดต่อโลก ซึ่งไทยเองมีจุดเชื่อมโยงทั้งทางบกและทางทะเล มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขาดเพียงการสานต่อด้วยงบประมาณ ขอให้ไทยมั่นใจว่าเมื่อจีนทำได้ไทยก็ทำได้ เพียงแต่ลักษณะนิสัยของคนอาจจะต่างกัน

“ประเทศไทยเป็นเกษตรกรรม มีพื้นที่ปลูกพืชผักที่ดี ทั้งข้าวสาร ทุเรียน มังคุด หมอนยางพารา ซึ่งเป็นที่ต้องการและนิยมมากของชาวจีนซึ่งมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน มีโอกาสและช่องทางมากมาย ไม่นับรวมการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากถึง 10 ล้านคนต่อปี แต่สำหรับเชียงใหม่เห็นว่าไม่เหมาะที่จะพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรม เพราะด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยวและที่พักผ่อน เนื่องจากภูมิประเทศถูกล้อมรอบไปด้วยภูเขา จึงควรพัฒนาให้เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ อีคอมเมิร์ซ พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีชั้นสูงมากกว่า ร่วมหันมาส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ชา กาแฟ ไม้ไผ่ และหญ้าเนเปียร์ เพื่อลดการปลูกข้าวโพดลงแก้ปัญหาหมอกควันที่สร้างความเสียหายไปพร้อมกัน”

Advertisement

สำหรับปัญหาสงครามทางด้านการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกานั้น นายเหริน ยี่ เซิง กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหามากที่สหรัฐอเมริกาทำขึ้น ทั้งการโจมตีหัวเว่ย สงครามเย็นทางเทคโนโลยีโดยอ้างว่าปกป้องประเทศตนเอง ซึ่งทางการจีนมองว่าเป็นการกระทำที่มีผลเสียมากกว่า ทำให้คนอื่นรำคาญ และตนเองไม่ได้อยู่ดี เรียกว่ากระทบทั้งต่อจีนและสหรัฐอเมริกาเองอย่างมาก ซึ่งมี 170 ผู้ประกอบการขอให้สหรัฐอเมริกายกเลิกการกีดกันภาษีเพราะได้รับผลกระทบมาก

“โดยส่วนตัวเคยไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา 6 ปี เรียนรู้ชีวิตและวัฒนธรรมจะเห็นว่าปกติคนสหรัฐอเมริกาจะแข่งขันกันด้วยความยุติธรรม แต่ปัจจุบันกับมีการกีดกันทางด้านภาษี ซึ่งผิดกฏและหลักการตลาด คงเป็นเพราะไม่ชินกับการพัฒนาที่รวดเร็วเกินไปของจีน มีทูตจีนกล่าวไว้ว่าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาหากเทียบเป็นการแข่งขันก็ต้องแข่งกันด้วยความยุติธรรมและมิตรภาพ ไม่ใช่การกีดกันและใส่ร้ายกัน ซึ่งถือว่าผิดกฎกติกาของการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น”

Advertisement

นายเหริน ยี่ เซิง กล่าวอีกว่า ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาจะกีดกันจีนอย่างไร แต่การพัฒนาของจีนยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง 5G และหัวเว่ยที่นำหน้าไปแล้ว 2-3 ปี และการออกข่าวว่ามีการยกเลิกซิมของหัวเว่ยก็เป็นเพียงข่าวลือไม่เป็นความจริง ทุกวันนี้ความร่วมมือยังดีอยู่ ในขณะที่เศรษฐกิจภายในของจีนยังดีมากถึง 75% นำเข้าก็ดี หากจะลดการส่งออกก็ไม่ได้กระทบมาก

“แต่สำหรับโลกภายนอกเชื่อว่ากระทบต่ออาเซียนแน่ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยบอกว่า จากภาวะสงครามการค้าทำให้ราคาน้ำมันลดลง การบริโภคลดลง ไทยอาจมีปัญหาเหมือนประเทศตะวันออกกลางที่ทรุดตัวลง แต่ด้วยความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนที่พัฒนาความสัมพันธ์มาตลอดทำให้มีคุณภาพการสั่งซื้อสินค้าระหว่างกันสูงถึง 587,870 ล้านเหรียญสหรัฐ และภายใต้กรอบความร่วมมือในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม พลังงาน การค้าที่เสรี การศึกษา และวัฒนธรรม เชื่อว่าอาเซียนจะพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่ม 5% ในขณะที่จีน 6.5% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีระหว่างสองฝ่าย” กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image