ชาวอยุธยาแห่ค้านบูรณะเพนียดคล้องช้าง หลัง ‘กรมศิลป์’ ตัดหัวเสาตะลุง ชี้ไม่สวยงามเสียความเป็นมรดกโลก

ชาวอยุธยาแห่ค้านบูรณะเพนียดคล้องช้าง หลัง ‘กรมศิลป์’ ตัดหัวเสาตะลุง ชี้ไม่สวยงามเสียความเป็นมรดกโลก

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ใน ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าที่เพนียดคล้องช้าง ทางกรมศิลปากร มีการบูรณะเพนียดคล้องช้าง โดยเสาตะลุงขาดความงดงามไปเพราะถูกตัดเอาหัวเสาออก เหมือนเพียงแค่เอาเสาไม้มาปักเอาไว้เท่านั้น จึงเดินทางไปตรวจสอบ

พบว่ามีช่างกำลังเร่งบูรณะปรับปรุงภายในเพนียดคล้องช้าง มีกองเสาตะลุงจำนวนมาก และมีส่วนของหัวเสาที่ตัดออกกองเอาไว้ เสาตะลุงที่ตัดหัวออกปักเอาไว้แล้วจำนวนหนึ่ง และอยู่ระหว่างการปักเสาตะลุง ซึ่งไม่มีหัวเสาเหมือนของเดิมก่อนการบูรณะ มองดูและขัดสายตาไม่งดงาม ส่วนเสาตะลุง ที่บริเวณภายในหน้าพลับพาพระที่นั่ง ที่ตั้งล้อมไว้สำหรับการนำช้างเข้ามาคล้องช้าง ตัวหัวเสาตะลุงจะมีหัวมน แบบของเดิม

นายมนัส เลิศศิริ อายุ 63 ปี นายช่างที่เคยทำการบูรณะเสาตะลุงเมื่อปี 2530 กล่าวว่า ตนเองเองเคยได้รับงานในการกลึงหัวเสาตะลุงจำนวน 500 ต้น ที่มีการบูรณะเมื่อปี 2530 ตนเองในฐานะเป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาเห็นแล้วรู้สึกเสียใจมากเพราะหมดความงดงามไป เพราะเห็นว่าตะลุงนี้มาตั้งแต่สมัยเด็กว่าเสาใหญ่โตมากสวยงามตั้งเรียงรายอย่างสวยงาม เห็นตั้งเสาแล้วมองดูเหมือนเอาท่อนไม้มาปักลงไปในหลุมเท่านั้น ขาดความงดงามไปเปรียบเทียบกับภาพเก่าในอดีตที่มีคนถ่ายภาพและเขียนเอาไว้แล้วเสียความเป็นมรดกโลกไป ใครมาเที่ยวอยุธยา หรือถ้าบอกว่าเพนียดคล้องช้างจะต้องนึกภาพเสาตะลุงหัวมน พอเอาภาพเสาตะลุงที่ไม่มีหัว มีแต่ตอคงคิดว่าไม่ใช่เพนียดคล้องช้างที่อยุธยา

ด้านอาจารย์สายันต์ ขันธนิยม อายุ 63 ปี อดีตข้าราชการบำนาญครูเชี่ยวชาญ เปิดเผยว่า ตนเองได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเพนียดคล้องช้างมา ค้นคว้าหาข้อมูล จากภาพถ่ายและภาพเขียนมีความชัดเจนว่าเสาตะลุง ที่เพนียดคล้องช้าง จะต้องมีลักษณะเป็นเม็ดทรงมัน โดยเฉพาะในการคล้องช้างในรัชกาลที่ 4 และในรัชกาลที่ 5 ปรากฏว่าเสาตะลุงของเพนียดคล้องช้าง มีลักษณะเช่นเดียวกัน ส่วนสาเหตุที่ต้องทำให้เป็นหัวเม็ดทรงมันนั้น เป็นกุศโลบาย ที่นอกจากจะทำให้เสาสวยงามแล้ว เป็นการรักษาสภาพของเสาตะลุงให้คงทนด้วย เพราะหากเป็นเสาปกติเวลาที่ฝนตกลงมาน้ำจะไหลลงไปในตัวไม้ทำให้เกิดความเสียหายได้ จึงได้ทำการกลึงให้หัวเสามน และยังมีการเอาปูนทาไว้ด้วยป้องกันน้ำไหลลงไปภายในตัวเสา ยังไม่ทราบเหตุผลของทางกรมศิลปากรที่มีการตัดเอาหัวเสาตะลุงออกไปเพื่ออะไร หมดความสวยงามไป

Advertisement

ด้านนายสันต์ ขันธนิกร อายุ 49 ปี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ติดกับเพนียดคล้องช้าง กล่าวว่า ตนเองเติบโตมาจำความได้ก็เห็นเสาตะลุงแล้ว สวยงามดี พอเห็นว่ามีการบูรณะปรับปรุงเพนียดคล้องช้างดีใจจะได้เห็นเพนียดคล้องช้างมีความสวยงาม แต่มาเห็นปักเสา แล้วเสาตะลุงถูกตัดเอาหัวเสาออกไป รู้สึกสะเทือนใจที่ความงดงามมันหายไป อยากให้มีการทบทวนแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิม

สำหรับเพนียดคล้อง ทางกรมศิลปากรได้จัดสรรงบประมาณจำนวนกว่า 35 ล้านบาท ในการบูรณะเพนียดคล้องช้าง ทำการซ่อมแซมพลับพลาที่ประทับที่ใช้ในการทอดพระเนตรการคล้องช้าง ศาลปะกำ และเสาตะลุงรอบเพนียดคล้องช้าง จำนวนกว่า 800 ต้น เริ่มทำการบูรณะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 เพนียดคล้องช้าง เป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทยอยู่ บนพื้นที่มรดกโลก ซึ่งปัจจุบันขึ้นทะเบียนโบราณสถานต่อกรมศิลปากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image