“บจธ.”แจงจัดสรรที่ดินโคราชอืด เพราะต้องตรวจสอบละเอียด ย้ำไม่เกินก.ค.เรียบร้อย

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี นายมนตรี เยี่ยมสูงเนิน ประธานวิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา พร้อมชาวบ้านกว่า 30 คน รวมตัวถือป้ายประท้วง ก่อนเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กรณีการจัดที่ดินทำกินของราษฎร 63 ครัวเรือน พื้นที่ 199 ไร่ ตามนโยบายของรัฐ โดยเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของนายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ตามนโยบายดังกล่าว มีความล่าช้าไม่เป็นไปตามมติ คณะรัฐมนตรี วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงเสนอให้นายขจรศักดิ์ออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารองค์กร

ต่อมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ต่อเรื่องดังกล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 ปี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการของรัฐ ล่าสุด ถึงขั้นตอนการประมเนราคาที่ดินที่จะซื้อขายเพื่อนำมาจัดสรรให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้ามากนัก จากการสอบถามบอร์ดบริหารจึงทราบว่ามี ปัญหาการบริหารจัดการภายใน จึงไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้

ล่าสุด นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์กรมหาชน) ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า ชาวบ้านยื่นเรื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ขณะที่ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งคณะผู้บริหารได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามความคืบหน้ามาโดยตลอด ช่วงเดือนตุลาคม 2561 ผู้บริหารบจธ. ลงพื้นที่ไปพบผู้ว่าฯนครราชสีมา พร้อมระดมเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกิน ตามหลักเกณฑ์ 4 ข้อ คือ

1.ชาวบ้านต้องตั้งสหกรณ์ในชุมชน หรือรวมตัวในรูปของวิสาหกิจชุมชนก่อน เพื่อยืนยันว่าหากให้บจธ.จัดสรรที่ดินให้สามารถผ่อนชำระเป็นไปตามกำหนด 2.รายชื่อของสมาชิกต้องชัดเจน และตรวจสอบได้ 3.ต้องมีแผนการผลิตและแผนการตลาด เพื่อให่มั่นใจว่าเมื่อจัดหาที่ดินให้แล้ว เกษตรกรจะสามารถอยู่ลอดได้อย่างยั่งยืน และ 4.การถือครองที่ดินของชาวบ้านจัดสรรแบ่งแปลงต้องชัดเจนเมื่อดำเนินการเสร็จ เจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนการตรวจสอบในพื้นที่ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใช้ระยะเวลา 2 เดือน หลังจากนั้น จะทำการรังวัดที่ดิน ตรวจรับที่ดินและโอนสิทธิ์ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 เดือน

Advertisement


“จากข้อตกลงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา บจธ. ได้แจ้งรายละเอียดให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบแล้ว คาดการว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน โดยปัญหาเรื่องที่ดินของชาวบ้าน บจธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่ติดขัดเรื่องสมาชิกในกลุ่มจากเดิม 47 รายมาเพิ่มเป็น 63 ราย เจ้าหน้าที่จึงต้องลงพื้นที่ไปสอบถามข้อมูลในส่วนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นมาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ต้องใช้เวลาและความร่วมมือกับทุกฝ่าย ดังนั้น บจธ.จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกินให้เร็วที่สุด” นายขจรศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image