ฮึ่ม! เครือข่ายขนส่งอีสาน ค้านพ.ร.บ ขนส่งจราจรทางบกฉบับที่ 12 (คลิป)

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ห้องประชุมสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชาญณรงค์ เจริญพรหมพงศ์ ประธานสหกรณ์ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าภาคอีสาน และนายเรืองศิลป์ วงศ์บุญทิวา ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนร่วมแถลงจุดยืนคัดค้านการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ขนส่งจราจรทางบก ฉบับที่ 12 พ.ศ 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กันยายนนี้ พร้อมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ชี้แจงเนื้อหาสาระในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ภาคประชาชนรู้เท่าทันและรวบรวมรายชื่อผู้ไม่เห็นด้วยให้ได้มากกว่า 50,000 คน เพื่อดำเนินการคัดค้าน พ.ร.บ. จราจรทางบกฉบับนี้ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ ฉบับนี้ และกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาทบทวน เพื่อยุติ ยับยั้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการต่อไป

นายชาญณรงค์ ประธานสหกรณ์ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า ฯ เปิดเผยว่า ภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภาคอีสาน ได้พิจารณาเนื้อหาสาระในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง เนื่องจาก สตช.ได้ทำประชาพิจารณ์ผ่านทางเว็บไซต์ในเวลาเพียง 15 วัน จึงมีประชาชนค่อนข้างจำกัดที่เข้าถึงและรับทราบข้อมูลดังกล่าว โดยกล่าวอ้างมีผู้ร่วมประชาพิจารณ์ประมาณ 500 คน ให้ความเห็นชอบ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีจำนวนประชาชนร่วม 70 ล้านคน ความเป็นจริงควรดำเนินหลายช่องทาง โดยทำประชาพิจารณ์ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน จึงถือเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ นายชาญณรงค์ ฯ กล่าว

 

Advertisement

ด้านนายเรืองศิลป์ ผู้แทนภาคีเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า หาก พ.ร.บ.จราจรฉบับนี้ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จะส่งผลกระทบทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก เช่นมาตรา 16 วรรคท้าย ถ้าไม่เสียค่าปรับภายในระยะเวลา 30 วัน จะเพิ่มโทษปรับสูงถึง 5 เท่า โดยเฉพาะบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัด (ห.จ.ก.) ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อพนักงานขับรถกระทำผิด ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจะต้องเรียกเก็บค่าปรับกับบุคคลเหล่านั้น ผลกระทบนี้ตกไปถึงประชาชนอย่างแน่นอน การแก้ไขเพิ่มเติมมีเจตนารมณ์แอบแฝงเป็นแรงจูงใจ มุ่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่วนแบ่งค่าปรับเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปแบ่งในรูปของรางวัล “ปรับมากได้มาก ปรับน้อยได้น้อย ” ถือเป็นการปฏิบัติราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเสมือนเป็นส่วยซ่อนรูปจึงไม่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างยิ่ง ต่อไปทุกโรงพักจะขยันตั้งด่านมากขึ้น เพื่อหวังผลทำยอดค่าปรับให้สูงขึ้นและเงินที่เปรียบเทียบปรับจำนวน 80 % เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีก 20 % เข้าสู่ภาครัฐ ถือเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง การกระทำการใดๆหากมีค่าตอบแทนถือเป็นการติดสินบนที่สำคัญเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหากปรับเปลี่ยนเงินค่าปรับเข้าสู่ภาครัฐมากขึ้นเงินดังกล่าวจะสามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาประเทศได้มากกว่านี้

“ การเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับ ยึด อายัดออกและใบสั่งรวมทั้งประสานข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อไม่ให้ต่อภาษีประจำปี กรณีเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถไม่จ่ายค่าปรับ ซึ่งเป็นนัยยะเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายจราจรให้มากขึ้น พวกเราน้อมรับหากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บังคับใช้กฎหมายจราจรจรอย่างเหมาะสม เคร่งครัดและเสมอภาค ไม่มีสองมาตรฐานเหมือน “ เพื่อนโชค ” ที่อ้างแล้ว สามารถรอดด่านตรวจได้ จึงควรตั้งศาลจราจร เพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับการจราจรโดยเฉพาะ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนและไม่ให้อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเปรียบเทียบปรับอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนี้ภาคีเครือข่ายกำลังรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วย เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ. จราจรทางบกฉบับนี้ หากการคัดค้านไม่เป็นผล จะรวบรวมพันธมิตรและสมาคม,สมาพันธ์,ชมรมที่เกี่ยวกับการขนส่งในประเทศไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้เข้มข้นมากกว่านี้ ” นายเรืองศิลป์ กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image