ระดมสมองตกผลึกกระท่อมระบาดทุกมิติ หวังสร้างทางแก้เชิงนโยบาย

วันที่ 31 พฤษภาคม  สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สนง.ป.ป.ส.) เปิดเวทีสัมมนาเชิงวิชาการ การปฏิรูปแนวทางการปฏิบัติต่อพืชกระท่อมในประเทศไทย โดยเชิญนักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิชาการ ศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคเหนือและภาคใต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผู้นำ ผู้แทนภาคปกครอง การบังคับใช้กฎหมายทั้งระดับส่วนกลาง จังหวัด และส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ในเขตพื้นที่รับผิดขอบ ของสนง. ป.ป.ส.ภ.8 และ 9 ทั้งในและนอกสังกัด สนง.ป.ป.ส.รวมถึงกลุ่มประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องกับพืชกระท่อมในมิติต่างๆ และคณะผู้จัดการ สพส.รวม 70 คน ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย.2559 ที่ห้องอภัยนุราช 2 โรงแรมสินเกียรติบุรี อ.เมือง จ.สตูล

การสัมมนาครั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลวิชาการในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์พืชกระท่อมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ให้หน่วยงานทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชนร่วมกันในการกำหนดแนวทางเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์พืชกระท่อมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์พืชกระท่อมในปัจจุบัน พร้อมทั้งแนวทางการจัดทำพื้นที่ศักยภาพการปลูกพืชกระท่อม เพื่อการควบคุมพืชกระท่อมในอนาคต โดยทางป.ป.ส. จะรับข้อมูลมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาพืชกระท่อมในมิติต่างๆ ซึ่งสามารถนำมากำหนดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อกำหนด ปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ บทลงโทษที่ถูกต้องเหมาะสม ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาพืชกระท่อมของประเทศต่อไป อีกทั้งเกิดความเข้าใจร่วมกันและสัมพันธภาพอันดีระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส.กับหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วนซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการหาทางออกและการควบคุม แก้ไขปัญหาพืชกระท่อมอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตของชุมชนและการดำเนินการของภาครัฐต่อไป

นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการสนง.ป.ป.ส. กล่าวหลังเดินทางมาเปิดการสัมมนาในครั้งนี้ว่า ในเรื่องของปัญหาพืชใบกระท่อมก็เป็นความรุนแรงที่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่มีความคุ้นเคยกับพืชกระท่อมก็เดือดร้อน ก็มีการเสนอความเห็นต่างๆ เข้ามาว่าจะดูแลปัญหานี้อย่างไร เพราะว่าไปกระทบกับชีวิตประจำวันของเขา แต่อย่างไรก็ตามตัวกระท่อมเองมันก็มีปัญหาด้วยตัวของมันเองแต่ว่าสิ่งที่มันเกิดเป็นผลกระทบมันเป็นผลกระทบในทางลบที่เป็นมุมกว้าง โดยเฉพาะเยาวชนที่หลงผิดเอากระท่อมไปต้มแล้วผสมกับวัตถุกล่อมประสาทตัวอื่นซึ่งอันตรายกว่า การที่จะพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องของต้นกระท่อมต้องละเอียดอ่อนแล้วก็มองให้ชัดเจนในแต่ละกลุ่มเพราะว่ามันจะมีทั้งผู้ที่คุ้นเคยกับกระท่อมโดยที่ใช้แล้วไม่ได้ไปส่งผลกับคนอื่นหรือคนรอบข้างเลยเป็นวัฒนธรรมใช้อยู่ที่บ้านเงียบๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ใช้แล้วเป็นกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มเยาวชนที่เราต้องดูแลเขาเพราะเขาจะต้องโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ถ้าเขาใช้ สี่คูณร้อย เราจะไม่พูดว่าเป็นกระท่อมต้องพูดว่าเป็น สี่คูณร้อย เพราะในนั้นมีส่วนผสมที่เยอะมากและสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเขาจริงๆ คือ วัตถุอื่นที่ผสมเข้าไปไม่ใช่ตัวกระท่อม ตัวนี้ถ้าเขาใช้ไปเรื่อยๆ อาการทางประสาทก็จะเกิดก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีสภาวะทางจิตใจที่ไม่สมบูรณ์ก็จะเสียทรัพยากรบุคคลไป

“ก่อนอื่นต้องเรียนประชาชนทางภาคใต้ก่อนว่าที่จริงแล้วกระท่อมถ้าเราปล่อยเกินไปมันอาจจะทำให้เกิดผลกระทบในเชิงกว้างโดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชนประเด็นก็ คือ ทำยังไงที่จะดูแลกลุ่มเยาวชนของเราไม่ให้หลงผิดเข้าไปใช้สิ่งเสพติดแล้วก็อย่าไปใช้กระท่อม การใช้เป็นวัฒนธรรมเป็นประเด็นย่อยก็คิดว่าตรงนั้นต้องหาแนวทางแก้ไขกันแต่ประเด็นหลักคงต้องมองภาพรวมว่าทำอย่างไรให้คนของเราลูกหลานของเราโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพโดยไม่ใช้ยาเสพติด” นายวิตถวัลย์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image