‘เพชรบูรณ์’ เปิดเวทีถกปรับปรุง ‘ผังเมืองรวม’ หลังชาวบ้านไม่เอาเหมืองแร่-ชงแยกที่ดิน ส.ป.ก.ออกจากเขตอนุรักษ์ป่า

วันที่ 24 มิถุนายน นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายนิพนธ์ เนยเมืองปัก โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมวาระยามเช้ากรณีชาวบ้านในเขต อ.หนองไผ่ ร้องเรียนว่ามีการประกาศผังเมืองรวมเพชรบูรณ์ทับที่ทำกินชาวบ้าน โดยกำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ป่าไม้ (เขียวทะแยงขาว) และชาวบ้านยังเข้าใจว่าอาจจะเอื้อให้มีการทำเหมืองแร่

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบูรณ์ เริ่มทำปี 2557 และประกาศในราชกิจานุเษกษาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2560 โดยประกาศใช้เต็มพื้นที่และมีการแบ่งแยกประเภทการใช้ในหลายรูปแบบ ทั้งนี้ ปัญหาคือพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งผู้ร้องเข้าใจว่าเมื่อเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.เหตุใดจึงต้องประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ป่าไม้ทับที่ ส.ป.ก.ด้วย จึงต้องเรียนว่าเขตที่ประกาศไม่ใช่เขตป่าไม้ แต่ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งกฎหมายผังเมืองรวมเป็นการประกาศใช้ประโยชน์ในที่ดินในลักษณะอนุรักษ์ป่าไม้ แต่ไม่ได้ประกาศเป็นเขตป่าไม้

“ถามว่าทำไมไม่แยกพื้นที่ ส.ป.ก.ออก เนื่องจากพื้นที่ ส.ป.ก.กระจายเต็มทั่วทั้งจังหวัด หากใช้เวลาเขียนวิเคราะห์ขอบเขตเพื่อกำหนดลงไปอาจต้องจะใช้เวลานาน แต่ทั้งนี้มีการเขียนระบุไว้ในประกาศข้อ 1(5) ของกฎกระทรวงฯ ที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินเฉพาะที่เป็นของรัฐ หรือรัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์เพื่อการปฏิรูป จะได้รับการยกเว้นการบังคับใช้ประกาศผังรวมเมือง ซึ่งก็หมายถึงให้ใช้กฎหมายของส.ป.ก.โดยตรง” นายนิพนธ์ กล่าว

Advertisement

ขณะที่นายอภิรักษ์ ตุ้มทอง นักผังเมืองปฏิบัติการ ประจำสำนักงานโยธาฯ กล่าวว่า ตามข้อกำหนดของการอนุรักษ์ป่าไม้มีวัตถุประสงค์หลักก็คือ ในเขตอนุรักษ์ป่าไม้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลบำรุงรักษาป่าไม้ และส่งเสริมคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเท่านั้น เพราะฉะนั้นการจะดำเนินกิจการเหมืองแร่ มีการห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่มิได้มีระบุเกี่ยวกับเหมืองแร่เอาไว้ แต่ในการทำเหมืองแร่ซึ่งจะมีโรงงานถลุงแร่หรือโรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่นี้ เพราะฉะนั้นจึงมีแนวโน้มไม่สามารถดำเนินการในเขตอนุรักษ์ป่าไม้ได้อยู่แล้ว ส่วนผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบูรณ์ มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 และประกาศใช้ปี 2560 ฉะนั้นจึงมีข้อสรุปว่าควรจะมีการปรับปรุงผังเมือง ซึ่งในวันที่ 25-26 มิถุนายนนี้ จะมีคณะเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการฯ ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล ซึ่งสามารถจะเชิญผู้ร้องมาให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับชาวบ้านข้อแรกเสนอให้มีการกำหนดที่ดิน ส.ป.ก.ลงไปในผังเมืองรวมที่จะปรับปรุงได้หรือไม่ เพื่อจะได้แยกให้ชัดเจนระหว่างพื้นที่ ส.ป.ก.กับพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ เพราะในอนาคตประชาชนไม่เข้าใจว่าอนุรักษ์คืออะไร ถึงแม้จะมีข้อยกเว้นที่ดิน ส.ป.ก.ก็ตาม และอีกข้อประชาชนต้องการให้เขียนกำหนดไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหวัดจะทำได้หรือไม่ โดยนายนิพนธ์แจ้งว่า นโยบายของกรมฯต้องการให้ลงที่ดิน ส.ป.ก.ในผังเมืองรวมอยู่แล้ว ส่วนการเสนอเรื่องห้ามการทำเหมืองแร่ทองคำนั้น ก็ให้นำเสนอผ่านคณะกรรมการฯที่จะลงพื้นที่ ส่วนจะมีการนำใส่ลงไปได้หรือไม่ ก็ต้องไปคณะกรรมการฯนำกลับไปพิจารณา

ด้านนายอธิวัฒน์ ชิดอรุณธนวัฒน์ อัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า พื้นที่ตามมติ ครม.กำหนดไว้ในการสำรวจแร่ตรงนี้จะไปเบรกหรือทำอะไรไม่ได้หากมีการขออาชญาบัตรแล้ว แต่มีกฎหมายอื่น อาทิ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะมีกฎหมายเฉพาะ ถ้าผังเมืองกำหนดสร้างโรงถลุงแร่ โรงแต่งแร่ไม่ได้ ก็จะออกประทานบัตรไม่ได้ ซึ่งผู้ว่าฯ ระบุว่าที่ผ่านมาก็ว่ากันไปแต่หลังการปรับปรุงผังเมืองแล้ว จะไม่ให้มีเหมืองแร่ก็ขอไปตามนั้น ส่วนจะได้หรือไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่อง เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหรือราษฎรต้องการ จังหวัดเป็นคนกลางก็ทำไป หากจะไม่ให้ก็ต้องมีเหตุผลชี้แจงกับราษฎร ไม่เช่นนั้นจะมาทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นกันทำไม เมื่อให้รับฟังราษฎรก็ต้องมีสิทธิ์นำเสนอ ซึ่งในวันที่ 25-26 มิถุนายนนี้คณะกรรมการปรับปรุงผังเมืองรวมจะลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ จึงสมควรให้มีเวทีให้ประชาชนได้เสนอความคิดเห็น จากนั้นที่ประชุมจึงกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนนี้ โดยในช่วงเช้าให้จัดเวทีขึ้นที่ อ.วังโป่ง และในช่วงบ่ายจัดเวทีขึ้นที่ อ.หนองไผ่ พร้อมกำชับให้นายอำเภอจัดเตรียมสถานที่ให้พร้อม และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่รับฟังพร้อมชี้แจงกับราษฎรด้วย

Advertisement

รายข่าวแจ้งว่า ล่าสุด ในการเคลื่อนไหวคัดค้านการสำรวจแร่ของเครือข่ายคนเพชรบูรณ์ไม่เอาเหมืองแร่ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากทราบข้อมูลว่ามีเอกชนยื่นขออนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ใหม่อีกรอบ โดยเฉพาะในการยื่นขอสำรวจแร่รอบนี้ บริษัททุนข้ามชาติเหล่านี้มีการยื่นขอพื้นที่สำรวจแร่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วจังหวัดเกือบ 100 แปลง ส่งผลให้ทางกลุ่มมวลชนต่อต้านไม่เอาเหมืองแร่พร้อมเครือข่าย ถึงกับต้องทำการบ้านโดยการลงพื้นที่ชี้แจงถึงผลกระทบและเหตุผลความจำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลม โดยการต่อต้านการสำรวจแร่ตั้งแต่เบื้องต้น โดยอ้างว่าหากไม่มีการสำรวจแร่ก็ไม่มีการผุดเหมืองแร่ตามมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image