ออกหมายเรียกสองผัวเมีย สร้างที่พักลอยน้ำกลางทะเล ครั้งที่ 2 ไม่มาเจอหมายจับ

ศรชล.สรุปคดีบ้านกลางทะเล ล่าสุดออกหมายเรียกสองสามีภรรยา ครั้งที่สอง 15 ก.ค.นี้ หากไม่มารายงานตัวเตรียมออกหมายจับ ด้านอัยการเผยพบผู้ต้องหาร่วมขบวนการอีกหลายรายเตรียมรวบรวมหลักฐานดำเนินการเอาผิด

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 5 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พลเรือโทไกรศรี เกษร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย ศรชล. เป็นประธานในการแถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีกรณีสิ่งก่อสร้างในทะเล (Seasteading) พร้อมด้วยพลเรือตรีวิธนรัชต์ คชเสนี รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3, นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัดภูเก็ต, นายวันฉัตร ชุณหถนอม อัยการจังหวัดภูเก็ต และพันตำรวจเอกนิกร สมสุข ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรวิชิต ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีฯ ภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีกรณีบุคคลสร้างวัตถุลอยน้ำ Seasteading ซึ่งได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษนายเชด แอนดริว เอลวอทอวสกี้ สัญชาติอเมริกัน และนางสุปราณี เทพเดช หรือนาเดียภรรยาชาวไทยต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรวิชิต อ.เมืองภูเก็ต ในความผิดฐานละเมิดสิทธิอธิปไตยของไทยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 และละเมิดสิทธิอธิปไตยของประเทศไทยที่มีเหนือเขตต่อเนื่องตามข้อ 56 Bและข้อ 60 วรรค 7 และวรรค 8 ของอนุสัญญากฎหมายทะเล (UNCLOS) ค.ศ. 1982 อันเป็นการทำให้ประเทศไทยสูญเสียเอกราชที่มีในเขตต่อเนื่อง และได้ดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวของนายเชด แอนดริว เอลวอทอวสกี้ พร้อมทั้งเก็บรักษาสิ่งก่อสร้างในทะเลไว้เป็นของกลางในการดำเนินคดี ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต

พลเรือโทไกรศรี เกษร รองเลขาธิการ ศรชล. กล่าวว่า จาการที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีความคืบหน้าไปตามลำดับ และเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งกรณีนี้ดังกล่าว มี 2 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ ในทะเลกับบนบก โดยการดำเนินการนั้นก็ได้มีการนำกฎหมาย ศรชล.มาดำเนินการ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติ

Advertisement

ด้านนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากมีการตรวจสอบบุคคลวัตถุไปก่อสร้างกลางทะเล เมื่อประมาณเดือนเมษายนที่ผ่านมา และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ศลชล ภาค 3 ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ได้มีการตรวจสอบและดำเนินการกับผู้ที่กระทำดังกล่าว พร้อมนำของกลางกลับเข้าฝั่ง ซึ่งพื้นที่ที่มีความผิดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ในทะเล เป็นหน้าที่ของศรชล.ภาค 3 และบนบก เป็นหน้าที่ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้มีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งพบว่า มีการจัดตั้งโรงงานที่ผลิตวัตถุลอยน้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการตามกฎหมายโรงงาน โดยสั่งให้ระงับการดำเนินการแล้ว, พ.ร.บ. ขุดดินตักดิน , ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ขณะที่นายวันฉัตร ชุณหถนอม อัยการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 ซึ่งเกิดขึ้นในเขตต่อเนื่องของประเทศไทยจึงเป็นคดีนอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 จำเป็นต้องมีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดแต่งตั้งให้ตน ร่วมกับพันตำรวจเอกนิกร สมสุข ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรวิชิต เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในกรณีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ที่ผ่านมา ศรชล. ได้ดำเนินการให้มีการให้ปากคำของ พยานผู้กล่าวหาเรียบร้อยแล้ว และพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหาแล้วจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 จะมีกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาหามารายงานตัวภายในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ หากไม่มาตามกำหนดพนักงานสอบสวนจะดำเนินการทำคำร้องต่อศาลจังหวัดภูเก็ตเพื่อขอออกหมายจับต่อไป

“ในส่วนของการสอบปากคำพยาน มีทั้งพยานด้านความมั่นคง พยานด้านแผนที่ ระวางแผนที่ พยานด้านความเชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศทางทะเล และพยานผู้เชี่ยวชาญในการพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่เขาประกาศเป็นรัฐอิสระต่อสาธารณชน ผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย ประกอบกับพยานวัตถุ หรือบ้านลอยน้ำมีความผิดชัดเจน จึงได้มีการออกหมายเรียกดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องทางทะเล ส่วนของบนบกนั้น เป็นเรื่องความผิดต่อเนื่องกับทางทะเล ซึ่งการอวดอุตริประกาศรัฐอิสระทางทะเลนั้นไม่สามารถทำได้ หากไม่มีสิ่งที่เกิดขึ้นและร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิด รวมถึงการซ่องสุมกันในการทำความผิด ในการสืบสวนสอบสวนพบว่า มีกลุ่มผู้กระทำความผิดทั้งนิติบุคคล ซึ่งมีส่วนสนับสนุนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ขอไม่ลงในรายละเอียดเนื่องจากอยู่ในสำนวนของการสอบสวนว่าน่าจะมีส่วนที่เกี่ยวข้อง และในส่วนที่เป็นพื้นที่จำนวน 30 ไร่ โดยต้องยอมรับความจริงว่า เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการพบภาพหรือสิ่งที่เห็นทางภาพถ่ายแต่ขออนุญาตไม่เปิดเผย เนื่องจากอยู่ในสำนวนคดีและจะมีผลกระทบได้”

Advertisement

นายวันฉัตร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการดำเนินคดีกับผู้ส่งเสริมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ทางผู้ว่าฯ และรองเสธฯ ได้กำชับว่า จะต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน และเกี่ยวข้องจริงๆ เพราะผู้ถูกกล่าวหานั้นจะมีระวางโทษสูงตามมาตรา 119 เช่นกัน แต่จากการสอบสวนมีพยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจน ทั้งพยานภาพถ่ายและพยานวัตถุ มีชายชาวเยอรมัน ซึ่งเกี่ยวข้อง ทั้งเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน และยอมรับว่ามีการตั้งบริษัท และยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดของสองสามีภรรยาที่เป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่จะต้องได้รับการอนุมัติตามลำดับชั้นของศรชล. จังหวัด ศรชล.ภาคและประเทศ เพื่อขออนุมัติออกหมายจับ และดำเนินการเพิกถอนวีซ่ากับชายชาวต่างชาติที่พยานหลักฐานชัดเจน และยังมีกลุ่มผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคล รวมถึงการกระทำผิดของคนไทยที่เกิดขึ้นในที่เกิดเหตุซึ่งมีการสร้างสถานที่ มีการให้ที่พักพิงและให้โอกาสดำเนินการประกอบวัตถุหรือ Seasteading ในพื้นที่ซึ่งมีโฉนดแห่งหนึ่ง โดยในประเด็นนี้เป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างกระทำความผิดตามมาตรา 129 มีโทษฉกรรจ์เท่ากับผู้ที่ประกาศรัฐอิสระ จึงต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน ขณะนี้หลักฐานที่มีอยู่ก็มีการชี้ถึงนัยที่สำคัญในการสืบสวนสอบสวน ดังนั้นผู้ที่ให้การสนับสนุนจึงมีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา และมีชาวต่างชาติ ขั้นตอนอยู่ในขั้นรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสรุปสำนวนส่งให้กับ ผอ.ศรชล.ตามอำนาจ และส่งอัยการสูงสุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีมาตรา 20 เพราะเป็นความผิดต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งทะเลและบนบน ซึ่งต้องทำควบคู่กันสำนวนจึงจะพิจารณาได้

“จากการสอบถ้อยคำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ประเด็นพยานหลักฐานของผู้มีส่วนสนับสนุนซึ่งเป็นชายชาวต่างชาติทางการเงิน การประกอบธุรกิจ และการก่อสร้างต่างๆ โดยมีการดำเนินการต้องเป็นไปตามสายงาน เพราะการใช้มาตร 119 และ 129 ผู้สนับสนุนโทษถึงประหารชีวิต ดังนั้นในการดำเนินการต้องมีการออกหมายเรียกก่อน เพื่อเขาจะได้เข้ามาชี้แจง ก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป เพราะชายชาวต่างชาติดังกล่าว มีภรรยาเป็นคนไทย และมีบุตรด้วยกัน รวมทั้งมีทรัพย์สินอยู่ที่ภูเก็ต”

นายวันฉัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว ในส่วนของทางทะเลนั้น มีผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 2 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เจอตัว และมีผู้ที่กำลังจะถูกกล่าวหาอีก 1 คน ส่วนทางบกมีผู้ที่ถูกกล่าวหาและกำลังจะตกเป็นผู้ต้องหาจำนวน 4 นิติบุคคล ประกอบด้วย 7 บุคคลเป็นคนไทย และมี 1 คน เป็นต่างชาติ กรณีบนบกนั้นมีความสำคัญกรณีที่มีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่การจะพิจารณาว่ามีส่วนสนับสนุนหรือไม่อย่างไร จะต้องมีการให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่จะถูกกล่าวหาด้วย

กระบวนการจากนี้ในกรณีที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาในส่วนของการกระทำความผิดทางทะเลแล้วนั้น ซึ่งจะครบกำหนดตามหมายเรียกครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ กระบวนการต่อไปจะเรียกว่า พนักงานสอบสอบจะร่วมกับพนักงานอัยการดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ การออกหมายจับ กับการไต่สวนฉุกเฉินในกระเด็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยในกรณีที่มีชาวต่างชาติซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนี เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่ง จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและหลักฐานจากศรชล.มาพิสูจน์ แต่กรณีของชายชาวเยอรมันนั้นกำลังจะเป็นว่าที่ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมโดยจะต้องเรียกมาก่อนในภูมิลำเนาสุดท้ายที่อยู่กับภรรยา กระทั่งปฎิเสธไม่มา หรือมาแล้วแต่เราไม่เชื่อในสิ่งที่เขาปฎิเสธ จะมีการแจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินการต่อศาลในการออกหมายจับหากหลบหนี หรือเพิกถอนวีซ่าต่อไป แต่หากพบว่ามีความเกี่ยวข้องในทางหรือสนับสนุนทางการเงินก็ต้องมีการให้เพิกถอนหนังสือเดินทางหรือวีซ่าจากตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต โดยจะขอดูหลักฐานก่อนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง นายวันฉัตรกล่าวในตอนท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image