ส.ส.ประจวบฯ ปชป.เสนอใช้ยาแรง ยกเลิกนำเข้า ‘มะพร้าวนอก’ แก้วิกฤตราคาร่วง

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส. เขต 3 จ.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รวบรวมข้อเสนอของตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากเวทีดีเบตที่ อ.บางสะพาน เพื่อนำไปแก้ไขวิกฤตปัญหาราคาตกต่ำเหลือผลละ 5-6 บาท โดยใช้กลไกการตรวจสอบจากการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร และนำปัญหาเสนอให้ทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์นำไปพิจารณา ขณะที่เงื่อนไขเพื่อให้มีคำตอบภายใน 30 วัน คงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ยืนยันว่าจะติดตามปัญหาและแจ้งความคืบหน้าให้ชาวสวนทราบทุกระยะ เบื้องต้นในวาระเร่งด่วนได้เสนอให้หยุดการนำมะพร้าวนอกเข้ามาในประเทศทันที ทุกกรอบการค้า งดนำเข้าทั้งมะพร้าวผล กะทิแช่แข็ง มะพร้าวขาวแช่แข็ง เพื่อทำให้กลไกราคาในประเทศดีขึ้น หลังจากปัญหาราคาตกต่ำหลายปีทำให้ชาวสวนในหลายอำเภอมีผลกระทบกับการชำระหนี้สินให้กับสถาบันการเงินและสหกรณ์การเกษตร

“ปัญหาราคาผลผลิตในประเทศตกต่ำทุกครั้งมาจากการอนุมัตินำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ เพื่อผลิตในโรงงานกะทิส่งออก จากข้ออ้างและเหตุผลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง มีหน่วยงานรัฐบางแห่งสมคบคิดกับกลุ่มทุน ปั้นตัวเลขผลผลิตในประเทศให้มีจำนวนลดลง และหลังจากมีรัฐมนตรีของพรรคไปทำงาน จะต้องตรวจสอบตัวเลขย้อนหลังทั้งหมดโดยให้ผู้บริหารในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคชี้แจงข้อเท็จจริง ล่าสุด ทราบว่าเร็วๆ นี้จะมีการพิจารณานำเข้ามะพร้าวอีก 3 แสนตัน หรือ 240 ล้านผล บางส่วนยังมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ขอยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการนำเข้า แต่ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน ทำอย่างไรให้กลไกราคาให้มะพร้าวในประเทศต้องไม่ต่ำกว่าผลละ 10 บาท ขณะที่การนำเข้าตั้งแต่ปี 2558-2559 พบว่านำเข้าไม่เกิน 2 แสนตัน จากนั้นในปี 2560 มีตัวเลขนำเข้าทะลุ 4.1 แสนตัน ในปี 2561 มากกว่า 2 แสนตันถือว่ามีความผิดปกติหรือไม่”

นายประมวลกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาราคามะพร้าวในประเทศไม่มีความซับซ้อน ในอนาคตทุกฝ่ายต้องปรับตัว หน่วยงานรัฐต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ รับฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์จากชาวสวน จากนั้นควรพิจาณานำเข้าให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาในประเทศ ขณะเดียวกันต้องยอมว่าไทยมีประเทศเพื่อนบ้านเป็นตลาดคู่แข่งเพื่อส่งออก ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ต้องปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการให้มีความสมดุล โรงงานผลิตส่งออกต้องคุ้มกับต้นทุน แข่งขันได้ สำหรับเกษตรกรไทยไม่เดือดร้อนจากกลไกราคาที่มีผลกระทบจากปัจจัยภายนอก นอกจากนั้นควรวางแผนป้องกันแมลงศัตรูมะพร้าวที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image