ปลื้ม! ชาวบ้านท่าสว่างผลิตผ้าคลุมลายโบราณส่งขายโกอินเตอร์ โกยเงินปีละกว่า 2 ล้าน

 

วันที่ 2 มิถุนายน 2559 เมื่อเวลา 08.15 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านท่าสว่าง หมู่ 9 ต.โนนสำราญ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายฉัตรมงคล สืบสา เลขานุการนายก อบต.โนนสำราญ ได้นำ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.ศรีสะเกษ และนายธีรวุฒิ พุทธการี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 ไปเยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าไหมไทย บ้านท่าสว่าง ซึ่งเป็นโครงการของดีบ้านฉัน ต.โนนสำราญ ซึ่งมีการผลิตผ้าคลุมไหล่ลายลูกแก้วโบราณ และผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าพื้น โดยกลุ่มแม่บ้าน นำโดย นางขันทอง แสงทอง อายุ 47 ปี ประธานกลุ่มทอผ้าไหมไทยบ้านท่าสว่าง และสมาชิกในกลุ่ม ได้นำเอาผ้าไหมที่มีสีสันสวยงาม คุณภาพดีจำนวนมาก พร้อมทั้งผ้าคลุมไหล่ลายลูกแก้วโบราณ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น จีน และสวิสเซอร์แลนด์ สั่งซื้อไปขายเป็นจำนวนมาก มาแสดงให้ชม

นางขันทอง แสงทอง อายุ 47 ปี ประธานกลุ่มทอผ้าไหมไทยบ้านท่าสว่าง กล่าวว่า  ในเดือน พ.ย.2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมาร ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านรุ่งอรุณ ต.โนนสำราญ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ได้ทรงมีพระราชดำรัสให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ราษฎรที่ยากจน เพื่อการอยู่ดีกินดีของราษฎร และอนุรักษ์อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ราษฎรสืบไป และศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ ได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ราษฎรในเวลาต่อมา

นางขันทอง กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริดังกล่าว ราษฎรบ้านท่าสว่าง จึงได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้น และได้จดทะเบียนกับพัฒนาชุมชน อ.กันทรลักษ์ โดยให้ชื่อว่า “กลุ่มทอผ้าไหมไทยบ้านท่าสว่าง” ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา กลุ่มมีสมาชิกทั้งสิ้น 52 คน มีการทอผ้าไหม เป็นผ้าพื้น ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าคลุมไหล่ จำหน่ายให้แก่ผู้สนใจทั่วไป นอกจากนี้ ยังได้นำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมส่งเข้าประกวดในโอกาสต่าง ๆ จนได้รับรางวัลเครื่องหมายรับรองและรางวัลอื่น ๆ เช่น รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานสีทอง ปี 2549 ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากสำนักงานพาณิชย์ จ.ศรีสะเกษ ปี 2554 และเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ปี 2555

Advertisement

201606021048371-20080804112417

นางขันทอง ยังกล่าวด้วยว่า ผ้าคลุมไหล่ลายลูกแก้วโบราณ เป็นสินค้าที่พวกตนภาคภูมิใจมาก เนื่องจากว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นสุภาพสตรีพากันมาหาซื้อไปใช้คลุมไหล่เป็นจำนวนมาก เพราะว่าเป็นผ้าคลุมไหล่สีธรรมชาติ สวยงาม ทำให้เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติและชาวไทยทั่วไป โดยตนจะขายผ้าคลุมไหล่ในราคาผืนละ 1,000 บาท แต่ก็ผลิตไม่ทันขาย เนื่องจากมีการสั่งไปขายที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าไหม ปีละกว่า 2 ล้านบาท โดยจะมีการหักเงินจากค่าขาย จำนวนร้อยละ 5 เข้าเป็นของกองทุนกลุ่มผ้าไหม เพื่อเป็นทุนใช้ในการหมุนเวียนผลิตผ้าไหม และนำเอากำไรที่ขายได้มาแบ่งปันให้กับสมาชิกทั้ง 52 คน สร้างรายได้เสริมในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนาได้เป็นอย่างดี

ด้านดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนขอชื่นชมกลุ่มทอผ้าไหมไทยบ้านท่าสว่าง ที่สามารถผลิตผ้าไหมคุณภาพดีออกไปขายทั่วประเทศ และส่งไปขายต่างประเทศด้วย ซึ่งตนจะใช้เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมของหมู่บ้านแห่งนี้ให้รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้น เพื่อจะได้ช่วยในการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านเพิ่มขึ้นอีกมากกว่าเดิม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image