วว.ท้าสตง.ตรวจสอบความคุ้มค่าใช้งบ 24 ล้าน สร้างโรงคัดแยกสับปะรดต้นแบบแห่งแรกของไทย

วันที่ 11 กรกฎาคม น.ส.กิตติมา บุญทอง พนักงานพัฒนาสังคม นิคมสร้างตนเอง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า กรณีแกนนำเกษตรกรชาวไร่สับปะรด ต.อ่าวน้อย อ.เมือง ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณกว่า 24 ล้านบาท โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี โรงคัดบรรจุสับปะรดผลสดใช้เทคโนโลยีต้นแบบแห่งแรกของประเทศ ที่หมู่ 10 บ้านวังมะเดื่อ ต.อ่าวน้อย โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

ขอเรียนว่าโครงการดังกล่าวสถาบันฯได้รับอนุญาตใช้ที่ดินในพื้นที่สงวนของนิคมฯจำนวน 5 ไร่ หลังจากมีการรังวัดโดยเจ้าที่หน้าที่ของนิคมฯ และหากมีข้อสงสัยว่าพื้นที่ก่อสร้างอาจทับซ้อนกับที่ดินในเขตป่าสงวนหรือไม่ เนื่องจากที่ดินอยู่ในพื้นที่ลาดชันบนภูเขา หากมีการร้องเรียนก็สามารถนำเจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมพิสูจน์แนวเขตได้

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจาก วว.ระบุว่า การใช้พื้นที่ขออนุญาตถูกต้อง แต่ขณะนี้ยอมรับว่ายังไม่มีหน่วยงานแห่งใดใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แสดงความประสงค์รับมอบโครงการนี้ไปบริหาร หลังจากเข้าเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วหลายครั้ง ยืนยันว่าโครงการฯไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่เป็นการทำงานวิจัย ในอนาคตหากไม่มีหน่วยงานใดรับมอบ วว.มีแนวทางจะบริการจัดการเองตามแผนที่กำหนด และพร้อมให้สำนักงานตรวจเงินดิน(สตง.)เข้าตรวจสอบประเมินความคุ้มค่า เนื่องจากโครงการนี้ช่วยเหลือเกษตรกรทุกกลุ่ม สำหรับรายชื่อแผนผังบุคลากรที่มีประธานและรองประธานสภาเกษตรจังหวัดเข้ามาเกี่ยวข้องตามแผนผังองค์กรที่ปิดประกาศไว้ ล่าสุดได้แจ้งให้ปลดรายชื่อออกแล้ว เนื่องจากสถาบันฯจะดำเนินการเพื่อขอรับรองมาตรฐาน GMP เพื่อการส่งออกโดยไม่ต้องใช้ชื่อกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่

มีรายงานว่าที่ผ่านมา นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. เดินทางมาเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตร “การถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก” ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ กว่า 100 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรในการผลิตสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก เนื่องจากการส่งออกสับปะรดผลสดมีปัญหาโรคไส้ดำ สำหรับการสาธิตวิธีการคัดแยก มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียสำหรับส่งโรงงานสับปะรดกระป๋อง แทนการใช้สับปะรดพันธ์สยามโกล์หรือ เอ็มดี ทู สำหรับรับประทานผลสดซึ่งมีราคาแพง

Advertisement

พร้อมระบุว่าการก่อสร้างโรงคัดบรรจุสับปะรดมาตรฐานต้นแบบ ภายใต้ความร่วมมือกับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตมาตรฐานครบวงจร นอกจากนั้นโรงคัดบรรจุสามารถประยุกต์ต่อยอดการใช้ประโยชน์กับการผลิตผลไม้ประเภทอื่นในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดใกล้เคียงในอนาคตได้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image