‘โดดเดี่ยว แต่โดดเด่น’ 112ปี รถไฟบ้านแหลม–แม่กลอง สายที่6 ของไทย

ที่บริเวณสถานีรถไฟบ้านแหลม ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ได้มีการจัดงาน 12 กรกฎาคม 2450 วันเริ่มเดินรถไฟสายบ้านแหลม–แม่กลอง” ขึ้น โดยมีการเสวนาเรื่อง “รถไฟสายบ้านแหลม – แม่กลอง” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายอัครวัฒน์ กมลมงคล นายสถานีผู้แทนฯ ,อาจารย์รักเกียรติ เลิศอุตสาหกูล ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการพิพิธภัณฑ์เจษฎาเทคนิค มิวเซียม และ ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานกรรมบริษัทสมุทรสาครพัฒนาเมือง วิสาหกิจเพื่อสังคม (จำกัด) ซึ่งภายในงานี้ก็ได้รับความสนใจจากชาวตำบลท่าฉลอม ส่วนราชการ คณะครูและนักเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานกรรมบริษัทสมุทรสาครพัฒนาเมือง วิสาหกิจเพื่อสังคม (จำกัด) เปิดเผยว่า สำหรับการจัดงาน “12 กรกฎาคม 2450 วันเริ่มเดินรถไฟสายบ้านแหลม–แม่กลอง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 112 ปี ของรถไฟสายที่ 6 แห่งประเทศไทยนี้ เนื่องจากตำบลท่าฉลอมมีสถานีรถไฟที่สำคัญ คือ สถานีบ้านแหลม ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร แต่หลายคนไม่รู้จัก รู้จักแต่สถานีแม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เพราะมีตลาดร่มหุบชื่อดัง ทั้งนี้จึงได้มีการจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการจุดประกายให้คนได้รู้จักถึงคุณค่าของสถานีรถไฟแห่งนี้ เพื่อจะช่วยกันบูรณะและดูแลให้สวยงาม เป็นที่ชื่นชมของนักท่องเที่ยวหรือคนที่ผ่านไปมาที่ท่าฉลอม ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ก็ได้เชิญผู้แทนจากการรถไฟฯ และอาจารย์ผู้มีความรู้ในเรื่องรถไฟมาเล่าให้ฟังว่า สถานีบ้านแหลมมีความเป็นมาและความสำคัญอย่างไร และมีเรื่องน่าสนใจอย่างไรบ้าง


สำหรับรถไฟสายบ้านแหลม – แม่กลอง เป็นรถไฟสายที่ 6 ของไทย เริ่มเดินรถตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 112 ปี โดยมีต้นทางที่สถานีบ้านแหลม จ.สมุทรสาคร และปลายทางที่สถานีแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ระยะทาง 33.75 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นมาจากบริษัท รถไฟแม่กลองทุน จำกัด ได้ถูกจัดตั้งขึ้นและได้รับสัมปทาน 40 ปี ในการเดินรถไฟจากบ้านแหลมถึงแม่กลอง เมื่อปี 2448 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี
ต่อมา บริษัท รถไฟท่าจีนทุน จำกัด เจ้าของสัมปทานรถไฟสายมหาชัย จากสถานีคลองสาน กรุงเทพฯ ถึง ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 33.13 กม. ได้เข้ามาควบรวมกิจการกับบริษัท รถไฟแม่กลอง ทุนจำกัด และได้เริ่มเดินรถไฟสายบ้านแหลม – แม่กลอง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2450 โดยได้เดินรถไฟจนสิ้นสัมปทานในปี 2488 แล้วจึงขายกิจการให้กับกรมรถไฟ
รถไฟสองสายย่อยดังกล่าวรวมเรียกว่า “รถไฟสายแม่กลอง” ซึ่งเป็นรถไฟสายเดียวของไทยที่โดดเดี่ยวไม่เชื่อมต่อกับรถไฟสายใด แต่โดดเด่นแตกต่างรถไฟสายอื่น ๆ ตรงที่ต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำท่าจีนเพื่อต่อระหว่างสถานีมหาชัยและสถานีบ้านแหลม ในปี 2504 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกสถานีคลองสาน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรคับคั่งซึ่งอันตรายเกินไปบนถนนเจริญรัถที่สร้างอยู่ข้างทางรถไฟ และได้เปลี่ยนไปเริ่มต้นสายที่วงเวียนใหญ่ ระยะทางจึงลดลงเหลือ 31.22 กิโลเมตร

ในปี 2505 ได้มีแผนที่จะยกระดับรถไฟสายแม่กลองให้ดีขึ้นและเชื่อมต่อกับรถไฟสายหลัก แต่การต้องสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลองเพื่อเชื่อมต่อนั้นแพงเกินไป จึงทำให้ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนถึงปัจจุบัน สำหรับรถไฟสายบ้านแหลม – แม่กลอง นอกจากจะใช้ประโยชน์ด้านการคมนาคมแล้ว ยังมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว เพราะเป็นรถไฟที่เดินทางไปสู่ “ตลาดร่มหุบ” ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก ขณะที่ตลอดระยะทางจากบ้านแหลม ถึง แม่กลอง ก็จะมีวิถีชีวิตของชาวนาเกลือ และป่าชายเลนให้ได้เห็นกัน ซึ่งเป็นภาพแห่งความสวยงามและความประทับใจที่น่าจดจำ จึงเรียกได้ว่ารถไฟสายนี้แม่จะ “โดดเดี่ยว” เพราะไม่เชื่อมต่อกับรถไฟสายอื่นแต่ก็ “โดดเด่น” ด้วยวิถีชีวิตชาวบ้านตลอดการเดินทางและความเป็นเอกลักษณ์ของตลาดร่มหุบนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image