กรมควบคุมโรค เผยคนไทยป่วยโรคเนื้อเน่าปีละ 100-200 คน

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าใน จ.น่าน รวม 26 ราย ต้องเข้าไอ.ซี.ยู. 3 ราย และเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ว่า โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าไปในบาดแผล ทำให้เกิดการอักเสบ ลุกลามได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย ส่วนใหญ่เกิดจากแผลเล็กๆ จึงไม่ได้ให้ความสนใจทำความสะอาด รายที่รุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตวาย ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ยิ่งมีอาการช็อกแล้วมาพบแพทย์ช้า จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงด้วย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคเนื้อเน่ามักพบในกลุ่มเกษตรกร ที่ทำไร่ทำนา เพราะมีโอกาสเกิดบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดินหรือในน้ำได้ง่าย จากการต้องเดินลุยหญ้า นาข้าว เหยียบย่ำโคลนระหว่างทำนา โดยประเทศไทยจะพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าประมาณ 100-200 รายต่อปี พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ตำแหน่งที่เกิดมากสุด คือ บริเวณขา รองลงมาเป็นบริเวณเท้า ส่วนขณะนี้มีผู้ป่วยเนื้อเน่าทั้งประเทศกี่รายอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจน

“อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้ทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 1 จ.เชียงใหม่ ลงไปสอบสวนโรคดูแล้ว ว่าเหตุใดที่ จ.น่าน จึงเกิดป่วยด้วยโรคนี้ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อทางบาดแผลขึ้นมาหลายราย ทั้งนี้ คนที่มีความเสี่ยงเกิดโรคเนื้อเน่า ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นต้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image