บก.ปอท.แนะวิธีตรวจสอบ-รับมือ ‘ข่าวปลอม’ หลังเกิดเหตุระเบิดหลายจุดในกรุง

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 5 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท.ในฐานะโฆษก บก.ปอท.เปิดเผยถึงการแพร่กระจายของข่าวปลอม (Fake News) ในเวลานี้ว่า ปัญหาข่าวปลอม ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถือเป็นภัยคุกคามที่ทั่วโลกประสบปัญหาเช่นกัน โดยเกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้สื่อโซเชียลเปลี่ยนไป จากเดิมที่ติดตามข่าวจากสำนักข่าวใหญ่ๆ ที่มีการคัดกรองข้อมูลข่าวในระดับหนึ่ง มาเป็นการอ่านข่าวจากห้องแชตในกลุ่มเพื่อน หรือ Feed ข่าวในสื่อโซเชียลต่างๆ แล้วเชื่อโดยไม่ทันตรวจสอบข้อมูล จากนั้นได้ส่งต่อข้อมูลซึ่งปัจจุบันทำได้โดยง่ายมาก แค่กดก๊อปปี้แล้ววาง ก็สามารถทำให้ข่าวปลอมแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วแล้ว เว็บไซด์ข่าวปลอมก็พยายามหาวิธีการ เช่น ใช้ URL ที่คล้ายกับสำนักข่าวใหญ่ๆ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ หรือ มีการนำภาพในเหตุการณ์อื่นจาก google มาประกอบเพื่อให้ดูเหมือนจริง

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ประเภทของข่าวปลอมที่สร้างความสับสนในสังคม อาทิ 1.ความคึกคะนองของผู้เสพสื่อ (เกรียน) สร้าง Content แปลกๆ หวือหวา แล้วแพร่กระจาย 2.เพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวเงินโดยจะใช้เหตุการณ์ที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจแล้วนำบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาประกอบข่าว โดยใช้ Caption หรือจั่วหัวข้อข่าวทำให้ดูน่าตกใจ จึงสามารถหลอกประชาชนให้เข้าไปกดอ่าน เขาก็จะได้ยอดวิวสูง ซึ่งจะมีผลต่อตัวเงินรายได้ 3.ข่าวปลอมสร้างความขัดแย้งในสังคม หรือทำให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) เป็นขบวนการของฝ่ายเห็นต่างกันทางการเมือง พยายามหาข้อมูลที่เป็นเท็จโจมตีอีกฝ่ายตรงข้าม

“วิธีป้องกันคือ 1.ตั้งสติคิดก่อนอย่าเพิ่งเชื่อ มิเช่นนั้นอาจตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี คิดถึงความเป็นไปได้ ความสมเหตุสมผลของเนื้อหา ตรวจสอบในเว็บไซด์สำนักข่าวหลักๆ ที่มีคนนิยมติดตามข่าวสาร ที่น่าเชื่อถือได้เปรียบเทียบหลายๆ สำนักข่าว ว่ามีข่าวแบบเดียวกันปรากฎออกไปทางสื่อหรือไม่ ตรวจสอบข้อมูลในกูเกิล
ตรวจสอบกับเวลาของข่าวเพราะบางทีเป็นข่าวเก่าที่มีการเอามาแชร์ใหม่ พร้อมกับตรวจสอบเว็บไซด์ของหน่วยงาน หรือทางราชการ โฆษกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการยืนยันข้อมูลหรือไม่อย่างไร 2.ดูโฆษณาในเว็บไซด์ ข่าวปลอมจะเป็นโฆษณาที่มีแต่สิ่งผิดกฎหมาย 3.บางเว็บไซด์มีมาตรการป้องกัน เช่น เฟซบุ๊กมีการใช้ ระบบตรวจสอบข้อมูล สังเกตตัว i เล็กๆ ที่ด้านล่างของข่าว เมื่อกดจะมีข้อมูลของเว็บไซด์ของลิงค์ข่าว 4.เมื่อพลาดพลั้งส่งข่าวปลอม พอรู้ตัวแล้วควรจะลบทิ้ง เพื่อมิให้เกิดการแพร่กระจายข่าวปลอมต่อ” โฆษก บก.ปอท. กล่าว

Advertisement

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ยังได้ยกตัวอย่างข่าวปลอมว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจสอบพบว่ามีการส่งต่อข้อมูลว่า ทางการประกาศพื้นที่ควบคุมพิเศษ 7 แห่ง ทั่วกรุงเทพมหานครนั้น ข้อเท็จจริงไม่มีการประกาศจากทางราชการแต่อย่างใด

“อันนี้เป็นการนำข้อมูลที่เป็นเท็จมาประกอบข่าวเหตุระเบิดจริงผสมกันไป พอคนอ่านแล้วทำให้เชื่อก็ส่งต่อทันที ซึ่งภายหลัง โฆษก กอ.รมน.ได้ออกมาแถลงว่าข่าวนั้น ไม่ใช่ข่าวจริง ยังไม่มีการประกาศพื้นที่ควบคุมพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น ตัวอย่างแบบนี้ที่ถือว่าเป็นข่าวปลอม ซึ่งบางคนหวังดี อยากให้พรรคพวก เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องทราบข่าวโดยเร็วจึงรีบส่งต่อทันที โดยไม่ทันได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด เมื่อมีการแถลงข่าวจากทางราชการแล้ว เป็นไปได้ก็ขอความกรุณาช่วยลบข้อมูลข่าวปลอมเหล่านั้นออก สำหรับผู้สูงวัยที่อาจจะไม่ทราบวิธีการลบ ให้สอบถามลูกหลาน ดูวิธีการลบข้อความที่ส่งที่แชร์ต่อ Unsend อย่างไร” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image