ศึกแย่งน้ำ! เวทีรับฟังความคิดเห็นเสียงแตก ชาวบ้านคัดค้านรง.น้ำตาลครบุรีสร้างสะพานรับน้ำดิบจากลำตะคอง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 สิงหาคม นายเมธี กาญจนสุนทร นายอำเภอสีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นประธานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ กรณีบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) ได้ขออนุญาตดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานรับท่อน้ำดิบและโรงสูบน้ำข้ามคลองบุ่งยาง ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว รวมทั้งใช้น้ำดิบจากลำตะคอง เพื่อใช้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล โดยมีผู้แทนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา กรมเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจังหวัดนครราชสีมา ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลาดบัวขาว ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำลำตะคองและชาวบ้านจำนวนกว่า 200 คน ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นกิจกรรมชี้แจงข้อมูลการดำเนินโครงการ ฯ เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัย ท่ามกลางบรรยากาศค่อนตึงเครียดมีการส่งเสียงโห่ฮาและแสดงท่าที ไม่พอใจ เมื่อมีการแสดงความเห็นต่าง

นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าพบกลุ่มรักษ์สีคิ้ว จำนวน 20 คน นำโดยนางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล พร้อมชาวสีคิ้ว มายืนถือป้ายไวนิลเขียนข้อความคัดค้านการอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลครบุรี ใช้น้ำจากลำตะคอง “ผู้ว่าฯโคราชประกาศภัยแล้งทุกปี แต่หน่วยงานราชการต่างๆ กับซ้ำเติมประชาชน อนุญาตให้โรงงานน้ำตาล มาสูบน้ำจากลำตะคอง แย่งน้ำประชาชน ผู้ว่าฯ ช่วยด้วย” ฯลฯ

นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการระบบท่อน้ำดิบที่สูบน้ำจากลำตะคองส่งให้โรงงานน้ำตาลครบุรี ในพื้นที่ ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว กับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา สถานการณ์ขณะนี้ จ.นครราชสีมา ประสบภัยแล้งซ้ำซากและขยายความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หน่วยงานราชการกลับซ้ำเติม โดยอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลดำเนินโครงการ ฯ ซึ่งเป็นการแย่งสูบน้ำ ขณะที่น้ำอุปโภค บริโภคไม่พอเพียง เกษตรกรต้องงดปลูกข้าวแม้นในช่วงฤดูฝนแต่ข้าวในนานับแสนไร่ต้องยืนต้นตาย เนื่องจากพื้นที่ปริมาณฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติอีกทั้งปริมาณน้ำฝนก็ไม่มากเหมือนอดีต โรงงานน้ำตาลมีทุนนับหมื่นล้านบาท แต่ไม่ซื้อที่ดินขุดเจาะบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจการกลับสูบน้ำจากลำตะคอง ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะใช้ปริมาณน้ำต่อปี 2.3 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็นร้อยละ 1 ของพื้นที่เก็บกัก 314 ล้าน ลบ.เมตร ของเขื่อนลำตะคอง มากกว่ายอดใช้น้ำของทุกโรงงานในพื้นที่ อ.สีคิ้ว รวมกัน 1.5 ล้าน ลบ.เมตร สภาพความเป็นจริงปริมาณน้ำดิบในเขื่อนลำตะคอง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีน้ำเต็มความจุ ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 133.44 ล้าน ลบ.เมตร หรือ 42 % ของพื้นที่เก็บกัก

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบโรงงาน ฯ ได้ขออนุญาตก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบและโรงสูบน้ำถูกต้องตามระเบียบทางราชการหรือไม่ ที่ผ่านมาโรงงานไม่เคยสอบถามชาวบ้านมีน้ำใช้พอเพียงหรือไม่ นอกจากนี้ได้พบการถมดินรุกล้ำในคลองน้ำธรรมชาติอีก ชาวบ้าน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้ใช้น้ำลำตะคองในการดำรงชีพ ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและรับผลกระทบโดยตรงจากการถูกแย่งชิงทรัพยากรน้ำ จึงขอคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว

Advertisement

นายสุกฤษณ์ วัชรมาลีกุล ผู้สมัคร ส.ส ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 47 พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบเอกสารการขออนุญาตของบริษัท น้ำตาลครบุรี ฯ มีที่ตั้งห่างจากลำตะคองประมาณ 10 กิโลเมตร บริเวณคลองลำตะคอง ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 17.832 ตามตารางแผนการใช้น้ำ โดยสูบน้ำวันละ 16,667 ลบ.เมตร และใช้น้ำไม่เกินเดือนละ 5 แสน ลบ.เมตร รวมปริมาณทั้งสิ้น 2.32 ล้าน ลบ.เมตร หากเกิดการขาดแคลนน้ำ กรมชลประทานสามารถสงวนน้ำดิบ โดยสั่งระงับการใช้น้ำได้ทันที ตนเป็นชาวสีคิ้ว ไม่ต้องการให้ชาวบ้านมีความขัดแย้ง สิ่งที่เป็นความเจริญ โดยมีโรงงานน้ำตาลสร้างในพื้นที่ ต่อไปไม่ต้องขนอ้อยไปขายให้โรงงานที่ตั้งอยู่ห่างจากไร่อ้อยนับ 100 กิโลเมตร อยากให้ทุกฝ่ายที่หวังดีต่อบ้านเมืองมานั่งคุยกันด้วยหลักการและเหตุผลเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

นางนันทิญา รักษาคลัง นักวิชาการขนส่งปฏิบัติการกรมเจ้าท่า ในฐานะตัวแทนผู้อำนวยการกรมเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครราชสีมา กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลครบุรี ได้ขออนุญาตจริง แต่ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาเห็นชอบสิ่งปลูกสร้างขัดต่อแผนพัฒนาจังหวัด ผังเมืองและสภาพแวดล้อม ซึ่งกำหนดโดยกระทรวงมหาดไทย จัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการล่วงล้ำลำน้ำ พิจารณาอนุญาต ขณะนี้ยังไม่ได้เอกสารครบถ้วน จึงยังไม่อนุญาตให้ก่อสร้างแต่อย่างใด

ด้านนายชุยธพงศ์ อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา กล่าวชี้แจงว่า โรงงานน้ำตาลครบุรีได้ขออนุญาตการใช้น้ำชลประทานถูกต้องตามระเบียบ แต่ขณะนี้ยังไม่อนุมัติให้สูบน้ำตามที่ต้องการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการขอเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญกรมชลประทานจะอนุญาตให้สูบน้ำในช่วงน้ำหลาก ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมเท่านั้น โดยให้สูบน้ำจากลำตะคองที่เกิดจากฝนตกท้ายเขื่อนลำตะคองเป็นหลักและผู้ใช้น้ำต้องเก็บสะสมน้ำดิบไว้ใช้ในกิจการให้เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ส่วนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่กำลังดำเนินการอยู่ เป็นการก่อสร้างในที่ดินของตนเองและดินที่เห็นรุกล้ำเข้าไปในลำตะคองจะต้องขนย้ายออกเมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image