ภัยแล้งโคราชรุนแรงสุดในรอบ 30 ปี 2 เขื่อนหลักในพื้นที่ประกาศหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงในพื้นที่อำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด เขื่อนลำแชะและเขื่อนมูลบน สองเขื่อนหลักของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอครบุรี ได้ประกาศเตรียมหยุดการส่งน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว เนื่องจากจำเป็นต้องสงวนน้ำไว้เพื่อการอุปโภค-บริโภคในช่วงหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึง

นายวิจิตร กิจวิรัตน์ นายอำเภอครบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อำเภอครบุรีปีนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ซึ่งขณะนี้ทางอำเภอได้เสนอให้ทางจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งใน 3 ตำบล 19 หมู่บ้าน มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 8,500 ไร่ แต่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการตามระเบียบขั้นตอน เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 หมู่บ้านที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งทางอำเภอได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม เพราะสระน้ำดิบผลิตประปาทั้งหมดแห้งจนหมด

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้เกิดจากฝนตกลงมาในพื้นที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั้งปี ประมาณ 30 % ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนลำแชะและเขื่อนมูลบนน้อยมาก ประกอบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำกักเก็บภายในเขื่อนเหลือน้อยอยู่แล้ว ทำให้เหลือน้ำไม่เพียงพอที่จะส่งให้เกษตรกรในเขตชลประทาน ทางเขื่อนลำแชะและเขื่อนลำมูลบน ต้องประกาศแจ้งหยุดการส่งน้ำเพื่อการเกษตรทั้งสองเขื่อน สงวนน้ำไว้เพื่อการอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก โดยเขื่อนมูลบน จะหยุดส่งน้ำก่อนในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ ส่วนเขื่อนลำแชะจะหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตรในวันที่ 24 สิงหาคมเป็นต้นไป จนกว่าจะมีน้ำไหลลงสู่เขื่อนมากพอให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรงหนัก ประกอบกับฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน ทำให้หลายพื้นที่เผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร โดยที่จังหวัดนครราชสีมา กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา กว่า 20 ครัวเรือน เริ่มปลูกอ้อยเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นพื้นที่เกือบ 1,000 ไร่ พบว่า อ้อยที่ปลูกไว้กำลังยืนต้นตาย เพราะขาดน้ำมาบำรุงดูแลให้ต้นอ้อยเจริญเติบโตแข็งแรงในช่วงแรก

Advertisement

นางวิสา บัวนาค อายุ 52 ปี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย บ้านพฤกษ์งาม หมู่ 13 ตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง กล่าวว่า เหตุที่ตัดสินใจมาปลูกอ้อย เพราะเชื่อว่าแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่คงเพียงพอ ประกอบกับมีโรงงานน้ำตาลตั้งในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จึงรวมตัวกันปลูกอ้อยปีนี้เป็นปีแรก พร้อมกับลงทุนเจาะบ่อบาดาลเอาไว้ แต่สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรงมาก ไม่มีน้ำมารดอ้อยที่ปลูกไว้ ทำให้อ้อยยืนต้นตายขาดทุนยับเยิน วอนขอให้รัฐบาลเข้ามาให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image