ดึงเรือแม่ส้ม สัญลักษณ์ระลึก”มาเรียม” ส.ส.ตรังดันแผนแม่บทพะยูนเข้าสภาฯ หนุนตั้งศูนย์สุขภาพสัตว์น้ำทางทะเล

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ที่จ.ตรัง หลังจากพะยูนน้อย”มาเรียม”เสียชีวิตด้วยสาเหตุการติดเชื้อและกินเศษพลาสติก ต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายซากพะยูนน้อย”มาเรียม”มาทำการสต๊าฟเพื่อการศึกษา โดยก่อนหน้านี้พะยูนน้อยมาเรียม มีความผูกพันกับเรือแม่ส้มที่คิดว่าเป็นแม่ของตัวเอง หลังพะยูนน้อย”มาเรียม”จากไปแล้ว ทีมงานเจ้าหน้าที่หารือกันเพื่อเตรียมนำเรือแม่ส้มมาเป็นอนุสรณ์รำลึกถึง”มาเรียม”

นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง หนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยอนุบาลมาเรียม กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะนำเรือคายักสีส้ม หรือ แม่ส้ม มาเก็บรักษาไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งการระลึกถึงพะยูนน้อย เนื่องจากที่ผ่านมาทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร นำเรือลำนี้มาใช้แทนแม่พะยูน เพื่อให้มาเรียมเกิดความรู้สึกอบอุ่น มีกำลังใจ พยายามใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติมาตลอด 111 วัน

“เขตห้ามล่าฯจะหารือไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งแม่ส้ม หรือ เรือคายักสีส้มลำนี้ จัดซื้อโดยกลุ่มผู้นำท้องถิ่นบนเกาะลิบง เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว และถูกนำมาใช้แทนแม่พะยูน จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลกในเวลาต่อมา” นายชัยพฤกษ์
ด้านน.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่เกาะลิบง เตรียมผลักดันเรื่องพะยูนเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ เพื่อนำเสนอแนวทางอนุรักษ์ การแก้ปัญหา โดยเฉพาะการขาดแคลนบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์การดูแลพะยูน หญ้าทะเล เนื่องจาก จ.ตรัง เป็นพื้นที่ที่มีทั้งพะยูนและหญ้าทะเลมากที่สุดของประเทศ

“ล่าสุด จากการพูดคุยกับ ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เสนอแนะว่า ให้ผลักดันพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ จ.ตรัง เพื่อจัดตั้งศูนย์สุขภาพสัตว์น้ำทางทะเล เนื่องจาก จ.ตรัง ถือเป็นเมืองหลวงของพะยูน และได้พูดคุยกับ นายประจวบ โมฆรัตน์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สบทช.) ที่ 10 จ.ตรัง ซึ่งเสนอแผนแม่บทพะยูนของ จ.ตรัง เน้นการอนุรักษ์พะยูน คู่กับหญ้าทะเลอย่างเป็นรูปธรรม”น.ส.สุณัฐชา กล่าว

Advertisement

น.ส.สุณัฐชา กล่าวอีกว่า ตนเคยลงพื้นที่ไปกินนอนเฝ้าดูมาเรียม และพบปะกับเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน กลุ่มพิทักษ์ดุหยง และชาวบ้านบนเกาะลิบง ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์พะยูน โดยเฉพาะจากสถิติการตายของพะยูน ส่วนใหญ่เกิดมาจากเครื่องมือประมง และประชากรพะยูนที่ยังเหลือเพียง 200 ตัว ถือเป็นจำนวนน้อยมาก แต่น่าดีใจที่ชาวประมงบนเกาะลิบง หรือ บริเวณโดยรอบ ต่างเข้าใจปัญหานี้ดี และให้ความรักพะยูนเสมือนลูก เห็นได้ชัดจากการอนุบาลมาเรียมพะยูนน้อย ในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา พี่น้องชาวเกาะลิบงเป็นกำลังสำคัญในการดูแล

“จากนี้ไปคงต้องเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องขอการบังคับใช้เครื่องมือประมงมากขึ้น รวมถึงปัญหาขยะพลาสติก ที่ต้องทำกันอย่างจริงจัง ต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย มิเช่นนั้นการแก้ปัญหาพะยูน หญ้าทะเล หรือขยะพลาสติก จะไม่ได้ผล” ส.ส.ตรัง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image