เมินจุดรับซื้อยางรัฐบาล ชาวสวนนครพนมแห่ขายเอกชน

(28 ม.ค.59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดรับซื้อยางพาราตามนโยบายของรัฐบาล ยังคงสร้างความสับสน และยังไม่เป็นที่พอใจให้กับเกษตรกรสวนยาง  ส่งผลให้จุดรับซื้อในพื้นที่ กำหนดไว้ จำนวน 10 จุด ตามอำเภอต่างๆ ที่มีการหมุนเวียนรับซื้อ พบว่ามีเกษตรกรให้ความสนใจน้อยมาก เพราะยังมีความสับสนและไม่เข้าใจในการรับซื้อ เนื่องจากมีขั้นตอนยุ่งยากในการ นำยางพาราไปจำหน่าย ที่ต้องมีการขึ้นทะเบียนตามคิว รวมถึงมีการจำกัดจำนวนการขาย รายละไม่เกิน 150 กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรบางราย ที่ไม่เข้าใจ เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ 

นายสมชาย วิทย์ดำรงค์  ผวจ.นครพนม ชี้แจงว่า เรื่องยางพาราผลผลิตของประเทศเยอะ แต่ว่ากำลังซื้อน้อยลง เพราะผลผลิตเหลืออยู่จำนวนมากมาย ถ้าเกิดเราไม่คอนโทลเรื่องผลผลิตมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือ เป็นส่วนหนึ่ง รัฐบาลบอกแล้ว จะต้องสร้างความเข้มแข็งควบคู่กับการช่วยเหลือเกษตรกรส่วนหนึ่ง

นายวิชิต  สมรฤทธิ์  เกษตรกรสวนยางพารา ชาว อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ในฐานะประธานเครือข่ายยางพาราภาคอีสาน  ออกมาเปิดเผยว่า  ตนในฐานะที่เป็นประธานเครือข่ายชาวสวนยางในพื้นที่ ภาคอีสาน 4 จังหวัด  มี นครพนม มุกดาหาร สกลนคร และ กาฬสินธุ์  มีเกษตรกรในเครือข่าย มากกว่า 2 แสนราย มีพื้นที่ปลูกยางไม่ต่ำกว่า 5 แสนไร่ ในส่วนของ จ.นครพนม มีมากกว่า 3 แสนไร่ เปิดกรีดประมาณ 2แสนไร่ ถือเป็นอาชีพหลักสำคัญของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำมายาวนาน บางรายเป็นหนี้ ไม่มีความสามารถในการชำระคืน เพราะราคายางต่ำกว่าต้นทุน ล่าสุดถึงแม้รัฐบาลจะหาแนวทางในการช่วยเหลือ ในการขึ้นราคา และเปิดจุดรับซื้อ ตนยังมองว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ใช่ทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหา เพราะหลังจากเปิดรับซื้อ ทำให้เกษตรกรผิดหวังซ้ำเข้าไปอีก เพราะมีปัญหาหลักๆ คือ มีขั้นตอนเงื่อนไขที่ยุ่งยากในการขึ้นทะเบียนขาย ส่วนใหญ่ขาดการประชาสัมพันธ์ เกษตรกรไม่เข้าใจ รวมถึงปัญหาเรื่องการจำกัดปริมารการขายคนละประมาณ 150 กิโลกรัม ได้แค่ครั้งเดียว แต่ยางพารามีจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image