ปธ.ชาวสวนยางใต้ ชี้สวนยางปลูกรุกที่ป่าเพิ่ม วัดใจรบ.ประกันรายได้ กก.ละ 60 บาท

ปธ.ชาวสวนยางใต้ ชี้สวนยางปลูกรุกที่ป่าเพิ่ม วัดใจ รบ.ประกันรายได้ กก.ละ 60 บาท

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวสวนยางรายย่อยที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อน จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม บางพื้นที่อยู่อาศัยทำกินก่อนกฎหมายประกาศ และที่สำคัญชาวสวนยางกลุ่มนี้ได้จ่ายค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง หรือค่า cess แต่เมื่อไม่มีเอกสารสิทธิ ทุกความช่วยเหลือจากรัฐบาลจึงไม่เคยถึงมือชาวสวนยางที่ลำบากและเดือดร้อนมากที่สุด

ที่ผ่านมามีความพยายามเสนอแนวทางการแก้ปัญหาสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยขอโฉนดชุมชน การทำสวนยางยั่งยืน และวิธีการอื่น แต่เหมือนรัฐจะไม่เข้าใจและไม่ใส่ใจ ต่างจากนายทุนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องจัดขบวนเกษตรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิให้เข้มแข็ง หากชาวสวนกลุ่มนี้ไม่ออกมาแสดงตัวก็ไม่มีสิทธิและไม่มีพลังเพื่อเรียกร้องสิทธิการช่วยเหลือ

นายศิวะ ศรีชาย ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เขตภาคใต้ตอนกลาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อแก้ไขปัญหาพัฒนายางทั้งระบบ โดยขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการประกันราคายาง ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.บัตรสีเขียวและผู้จดแจ้งการปลูกยางในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ มีสิทธิเข้าร่วมโครงการประกันราคายาง สำหรับการใช้ยางภาครัฐโครงการสร้างถนนยาง 1หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่, เชียงราย ดำเนินการนำร่องเป็นต้นแบบ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงราย จัดทำเป็นคู่มือปฏิบัติตามโครงการ

“การอนุมัติการขอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อ เป็นทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรวบรวมยางต่อไปอีก 4 ปี โดยดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินเดิม 1 หมื่นล้านบาทในระยะเวลาตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 – 31 มีนาคม 2567 และขยายเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพการแปรรูปยาง ภายใต้กรอบวงเงิน 5 พันล้านบาท ให้สิ้นสุดโครงการ 31 มีนาคม 2567 การบริหารจัดการโรงงานแปรรูปเดิมและการสร้างโรงงานแปรรูปยาง ผลิตภัณฑ์ยางขนาดใหญ่ ทั้ง 7 เขต ทั่วประเทศ รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมผังเมือง เพื่อเอื้ออำนวยต่อการขออนุญาต ร.ง.4 ได้ และดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมยาง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ กทย.” นายศิวะกล่าว

Advertisement

นายศิวะ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายและการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐกับโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อปลูกยางพาราเป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนาน และขยายวงกว้างเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ปัญหานี้ได้รับความสนใจเมื่อรัฐบาลประยุทธ์ 2 พรรคการเมืองที่ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์มีโครงการรับประกันรายได้เกษตรกร มีปัญหาว่าจะครอบคลุมไปถึงเกษตรกรในพื้นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ด้วยหรือไม่อย่างไร

“สถานการณ์ปัจจุบันสวนยางในพื้นที่บุกรุก มีทั้งพื้นที่ที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ ต่อมาถูกประกาศทับด้วยกฎหมายต่างๆ ทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่กลายเป็นผู้บุกรุก มีการแก้ไขอย่างยาวนาน ทั้งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคำสั่ง คสช.หลายฉบับ แต่ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้จริง นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ป่าสวนยางที่ถูกบุกรุกใหม่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ดินส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนมือ กลายเป็นปัญหาการผลิตยางของประเทศ ทุกรัฐบาลหมดปัญญาแก้ไขกลไกทางด้านการตลาด จึงคิดแก้ปัญหาด้วยการอุดหนุน ชดเชยรายได้ ลดต้นทุนการผลิต เป็นครั้งคราว เป็นการแก้แบบไฟไหม้ฟาง แต่ไม่มีผลในระยะยาว“ นายศิวะกล่าว

นายศิวะกล่าวว่า ขณะนี้มีคำถามจากหลายฝ่ายว่าชาวสวนยางในที่ไม่มีเอกสารสิทธิ จะได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ปชป.เจ้าของนโยบายประกันรายได้ต้องการให้นโยบายนี้ ช่วยเหลือครอบคลุมสวนยางทุกราย แต่ปัญหาคือไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจนในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ จึงยึดถือตามข้อมูลสวนยางในที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ประมาณ 3 แสนกว่าราย แต่ถูกท้วงติงด้วยข้อกฎหมายและงบประมาณอาจบานปลายถึง 7 หมื่นล้านบาทและติดขัดด้วยกติกาการค้าโลก

Advertisement

“ถ้ารัฐยอมจ่ายชดเชยเกษตรกรในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ก็เท่ากับว่าให้การยอมรับผลผลิตจากพื้นที่บุกรุกทำลายป่าไม้ จะทำให้การค้าขายกับประเทศต่างๆ มีความยุ่งยาก ประเด็นข้อเรียกร้องขอรับความช่วยเหลือด้วยข้ออ้างว่าเป็นผู้จ่ายภาษี Cess ก็พอจะเข้าใจได้ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่ารัฐบาลจะส่งออกยางโดยไม่มีการเก็บภาษีคงไม่ได้ โดยเฉพาะยางที่เป็นผลผลิตจากพื้นที่บุกรุกพื้นที่ป่าแบบผิดกฎหมาย เป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้นการประกันรายได้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิจะมีทางออกย่างไรหรือจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมต่อไป” นายศิวะกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image