แทบสิ้นชื่อ! หมูย่างเมืองตรัง ยอดขายลด ลูกค้าไม่ซื้อ เหลือ 11 ร้าน ขึ้นทะเบียนจีไอ

แอบอ้างหมูย่างเมืองตรัง ผู้ประกอบการได้เฮ ! สินค้า GI 11 ราย จบสารพัดปัญหา ก่อนหน้ายอดตกแทบสิ้นชื่อ ด้านพาณิชย์ชี้สินค้าต้องแตกต่างจึงขายได้เน้นผ่านมาตรฐานเพิ่มขึ้นให้รู้คุณค่าตามคุณภาพสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า จากการสำรวจพบว่าตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายอดจำหน่ายหมูย่างเมืองตรังลดลง ลูกค้าปฎิเสธการซื้อมากขึ้น และไม่สนใจหมูย่างเมืองอีกต่อไป บางคนบอกว่ารสชาติเพี้ยน ไม่อร่อยเหมือนเดิม ส่งผลให้ผู้ประกอบการย่างหมูเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมากเหลือเพียงไม่กี่ราย โดยผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรังต่างก็ทราบสาเหตุ แต่ยังหาทางแก้ปัญหาไม่ได้

จนกระทั่ง ล่าสุดปลายปี 2561 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ขึ้นทะเบียนหมูย่างเมืองตรังเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI : Geographical Indication) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 เลขที่ สข. 49100004 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2548 ซึ่งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง เป็นหน่วยงานประสานในการขอหนังสืออนุญาตเพื่อแสดงว่าเป็นผู้มีสิทธิใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) ในฐานะเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า “หมูย่างเมืองตรัง” ซึ่งการอนุญาตนี้มีอายุ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 – 7 พฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ GI สำนักงานฯ จะส่งเสริมต่อยอดให้เข้าถึงโอกาสทางการตลาดต่อไป

โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สช 49100004 สินค้าหมูย่างเมืองตรัง จำนวน 11 ราย ได้แก่ หมูย่างโกแก่ หมูย่างบ้านน้ำพราย โกเภาหมูย่าง หมูย่างโกด้วง เจ๊เกี้ยน-โกชัยหมูย่าง หมูย่างโกจินต์ หมูย่างโกจิ้ว โกสุยหมูย่าง หมูย่างแม้ยิ้น หมูย่างเต็งหนึ่งสวนจันทร์ และโกดำหมูย่าง

Advertisement

นายสัมพันธ์ ยิ้วเหี้ยง อายุ 50 ปี เจ้าของร้านอาหารเช้า โกสุ่ย หมูย่าง และผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรังถ่ายทอดสูตรจากบรรพบุรุษมานานเกือบ 70 ปี กล่าวว่า ปัญหาหมูย่างเมืองตรังสะสมมานาน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรังที่เห็นแก่ตัวทำผิดสูตร หรือคิดค้นสูตรขึ้นมาเองแล้วรสชาติไม่เหมือนเดิม และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่คนตรังดั้งเดิมหรือคนจังหวัดอื่น แต่อยากได้ส่วนแบ่งตลาดหมูย่าง ล้วนส่งผลกระทบกับหมูย่างเมืองตรังทั้งสิ้น ทั้งนี้การทำหมูย่างเมืองตรังเป็นสูตรที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่พอยุคเปลี่ยนด้วยภาวะเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไปทำให้หมูย่างเมืองตรังแทบเหลือแต่ชื่อ เพราะลูกค้ากินแล้วไม่ประทับใจ รสชาติเปลี่ยน หมูกรอบ มันเกินไป เนื้อหมูไม่แห้ง ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข

จนมาถึงวันนี้ได้มีการทำสินค้าบ่งชีภูมิศาสตร์หรือ GI ขึ้น ทำให้ค่อยสบายใจและดีใจมาก เพราะการทำหมูย่างให้ผ่านมาตรฐานรับรอง GI ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกรรมวิธีต้องถูกต้องตามสูตรดั้งเดิม ตนคิดว่าส่วนนี้จะเป็นจุดขายและทำให้ลูกค้ามั่นใจในหมูย่างเมืองตรังมากขึ้น และหลังจากตนนำหมูย่างเมืองตรังไปออกบูธจำหน่ายสินค้า และมีป้ายสินค้า GI รับรอง พบว่าลูกค้าตอบรับดีขึ้นมาก ต่างจากเมื่อก่อนที่วิกฤตหนักแทบจะต้องขอร้องให้ซื้อด้วยซ้ำไป ส่วนผู้ประกอบหมูย่างรายใดที่ยังไม่ผ่านสินค้า GI ก็ขอให้มีความพยายาม เพื่อหมูย่างเมืองตรังจะได้เป็นอัตลักษณ์ อาชีพคู่บ้านคู่เมืองตรังตลอดไปและยากต่อการเลียนแบบ

Advertisement

ด้าน นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ พาณิชย์จังหวัดตรัง กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่หมูย่างเมืองตรังจำนวน 11 ราย ผ่านมาตรฐานสินค้า GI ซึ่งจะทำให้ต่อยอดทางการค้าได้มากขึ้น เพราะมีขั้นตอนที่ยากมากกว่าจะผ่านมาได้ทุกอย่างต้องถูกต้องตามระเบียบเงื่อนไขของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ฉะนั้นผู้ประกอบการที่ได้มาคือต้องผ่านเกณฑ์ทั้งหมด และยากต่อการเลียนแบบเพราะนี่คือสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และต้องมีความแตกต่างระหว่างสินค้าจีไอกับสินค้าทั่วไป สินค้าจะขายได้ต้องมีความแตกต่าง ฉะนั้นผู้ที่ได้รับจีไอจะคุ้มค่ามาก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เวลาไปออกบูธจำหน่ายสินค้ากระทรวงพาณิชย์ก็จะจัดโซนสินค้าจีไอไว้เฉพาะ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเพิ่มยอดขายได้และเพื่อความมั่นใจให้กับลูกค้า ฉะนั้นสินค้าจีไอจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผู้ประกอบการได้และป้องกันปัญหาต่างๆ ให้หมดสิ้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image