ย้อนรอยคดี ‘บิลลี่’ กระดูกดิ้นได้ ใครอยู่เบื้องหลังฆ่าบิลลี่ !!

กรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ อายุ 31 ปี ชาวกะหร่าง บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สมาชิกสภา อบต.ห้วยแม่เพรียง แกนนำชาวกะเหรี่ยง-กะหร่างแห่งบ้านบางกลอย ได้หายตัวไปพร้อมรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ไนท์ สีเหลือง ไม่ทราบหมายเลขแผ่นป้ายทะเบียน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยก่อนหายตัวไปมีผู้พบว่านายบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมตัวข้อหามีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและปล่อยตัวไป จากนั้นไม่มีใครพบเห็นนายบิลลี่อีกเลย

วันที่ 18 เมษายน 2557 นายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.อ.สมปอง ขำทวี ร้อยเวร สภ.แก่งกระจาน ว่าได้รับแจ้งจากลูกบ้านชื่อนางพิณนภา พฤกษาพรรณ ว่านายบิลลี่ผู้เป็นสามีหายตัวไปตั้งแต่เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 17 เมษายน ไม่สามารถติดต่อได้ เกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งติดตาม

ต่อมาวันที่ 21 เมษายน กลุ่มชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง กว่า 100 คน นำโดยนายเกรียงไกร ชีช่วง เลขานุการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และนางพิณนภา เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี โดย พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร รอง ผวจ.เพชรบุรี รับแจ้งเรื่อง นายขจรศักดิ์ สมบูรณ์ นายอำเภอแก่งกระจาน พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุขแสวง รอง ผบก.ภ.จว.เพชรบุรี ร่วมรับฟังปัญหา

นางพิณนภาเปิดเผยในขณะนั้นว่าก่อนนายบิลลี่หายตัวไป ได้บอกกับตนว่าจะลงไปเตรียมข้อมูลเพื่อจะขอยื่นถวายฎีกาในปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการผลักดันของเจ้าหน้าที่อุทยานฯให้ออกจากพื้นที่ในป่าแก่งกระจาน และเตรียมนำชาวบ้านไปร่วมรับฟังการพิจารณาคดีของศาลปกครองในคดีที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมอุทยานฯ และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากกรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯเข้าไปรื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านในป่าแก่งกระจานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

Advertisement

นางพิณนภารู้สึกวิตกกังวลการหายตัวไปของนายบิลลี่ คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่นายบิลลี่ทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชนและการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือชาวบ้านร่วมกับทนายความในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งนายบิลลี่และชาวบ้านต้องร่วมเป็นพยานในคดีดังกล่าวด้วย การหายตัวไปของนายบิลลี่อาจส่งผลต่อคดีและการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมของกลุ่มชาวบ้าน

ขณะที่นายชัยวัฒน์เปิดเผยว่า วันที่ 17 เมษายน 2557 ตนไปต้อนรับนายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เดินทางมาตรวจการเพื่อจัดเตรียมสถานที่รอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ยอดเขาพะเนินทุ่ง ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อเสร็จภารกิจขณะที่ตนพร้อมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 4 นาย และนักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ อีก 2 คน เดินทางกลับลงมาจากพะเนินทุ่ง ขณะมาถึงบริเวณจุดตรวจด่านสามยอด ได้รับแจ้งทางวิทยุจากนายเกษม ลือฤทธิ์ หัวหน้าหน่วยด่านมะเร็วว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯได้ควบคุมตัวชาวบ้านบางกลอยคนหนึ่งเนื่องจากมีน้ำผึ้งป่าซึ่งเป็นสิ่งหวงห้ามตามกฎหมายอุทยานฯซ่อนอยู่ในเป้ จึงรุดไปตรวจสอบ เมื่อไปถึงด่านมะเร็วพบนายบิลลี่ ขณะนั้นมีฝนตกจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่นำนายบิลลี่และรถจักรยานยนต์พร้อมของกลางทั้งหมดขึ้นรถตน แล้วให้นักศึกษาฝึกงานและเจ้าหน้าที่อีก 1 คนไปนั่งรถนายเกษม และให้ขับตามไปที่อุทยานฯ ขณะอยู่บนรถตนได้ต่อว่านายบิลลี่ว่าเป็น ส.อบต.แต่ทำไมกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งนายบิลลี่ได้ขอร้องให้ปล่อยตัว อ้างว่าน้ำผึ้งป่าซื้อมาจากชาวบ้านขวดละ 120 บาท จะไปขายต่อขวดละ 200 บาท เป็นความผิดเล็กน้อยขอให้ปล่อยตัว แต่ตนไม่เชื่อเพราะนายบิลลี่มีกระเป๋าใบใหญ่ติดตัวมาด้วย คาดว่าในกระเป๋าน่าจะมีน้ำผึ้งอีกจำนวนมาก แต่เมื่อสอบถามปรากฏนายบิลลี่ยืนยันว่ามีน้ำผึ้งแค่ 5 ขวด ขณะนั้นรถวิ่งมาถึงบริเวณบ้านมะค่าซึ่งห่างจากด่านมะเร็วประมาณ 9 กม. ตนได้สั่งให้เจ้าหน้าที่จอดรถและลงมาค้นกระเป๋าสัมภาระของนายบิลลี่พบมีเพียงเสื้อผ้าและของใช้จำนวนหนึ่ง จึงคิดว่าน้ำผึ้งแค่ 5 ขวด เป็นความผิดเล็กน้อยก็เลยว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไปพร้อมรถจักรยานยนต์ จากนั้นตนก็เดินทางกลับบ้านที่ไร่ราชพฤกษ์เพื่อเตรียมจัดงานประเพณีวันสงกรานต์ย้อนหลังให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯที่กำหนดจัดวันที่ 18 เมษายน 2557 และได้ร่วมกิจกรรมดังกล่าว กระทั่งเช้าวันที่ 19 เมษายน 2557 ได้รับแจ้งจากร้อยเวร สภ.แก่งกระจาน ว่านายบิลลี่หายตัวไป โดยผู้แจ้งอ้างว่าตนและเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องอุ้มตัวบิลลี่

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า การควบคุมตัวนายบิลลี่ที่ด่านเป็นเวลากลางวัน มีพยานรู้เห็นมากมาย นักศึกษาฝึกงานและนักท่องเที่ยวก็เห็น ตอนแยกจากกันต่างคนต่างไป ตนจะไปอุ้มนายบิลลี่ทำไม การปล่อยข่าวว่าตนมีส่วนทำให้นายบิลลี่หาย น่าจะเป็นการวางแผนของกลุ่มคนที่ต้องการย้ายตนออกนอกพื้นที่ เพราะตนขัดขวางคนที่ละเมิดกฎหมายในป่ามาโดยตลอด คอยหาเหตุโจมตีการทำงานของตนมานานแล้ว ก่อนเกิดเหตุนายบิลลี่หาย ตนได้แจ้งจับนายวุฒิ บุญเลิศ และนายพฤ โอโดเชา แกนนำกะเหรี่ยง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่เข้ามายุยงชาวกะเหรี่ยง-กะหร่างในพื้นที่ บ้านโป่งลึก บ้านบางกลอย ให้เข้าไปบุกรุกป่า ตัดไม้ เผาป่าบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรี และล่าสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมีการรุกป่าไปแล้วกว่า 1 พันไร่ อาจเป็นชนวนทำให้เกิดความไม่พอใจจากผู้เสียผลประโยชน์จนเกิดกลุ่มกระบวนการจัดฉากสร้างเหตุการณ์ขับไล่ตน กระทั่งนายบิลลี่หายตัวไปวันที่ 17 เมษายน 2557 ก็มีขบวนการรื้อเรื่องเก่ามาโจมตีตนอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดโยงว่าตนสนิทกับคนตระกูลการเมืองใหญ่ใน จ.เพชรบุรี ตนขอยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการทำงาน ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายบิลลี่และยินดีให้ตรวจสอบในทุกประเด็น

Advertisement

นายอิศรา พฤษาเหตุ และ น.ส.สุวรรณา รามัญ นักศึกษาฝึกงานซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ เล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ 17 เมษายน 2557 ว่า พวกตนและนายชัยวัฒน์ไปปฏิบัติงานบนพะเนินทุ่ง ขณะลงมาได้รับวิทยุที่ด่านสามยอด จนมาพบตัวบิลลี่ที่ด่านมะเร็วและแยกจากนายชัยวัฒน์ด้วยข้อมูลที่ตรงกับนายชัยวัฒน์ทุกประการ ขณะที่พวกตนแยกย้ายกับนายบิลลี่ที่ด่านมะเร็ว ขณะที่นายเกษมหัวหน้าด่านมะเร็วขับรถนำพวกตนกลับ ยังเห็นนายบิลลี่ขับขี่รถจักรยานยนต์วิ่งอยู่ด้านหน้าในช่องทางด้านซ้ายของถนน นายเกษมก็ขับรถแซงขึ้นมาและมาส่งตนทั้งคู่ที่ไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตนเห็นนายบิลลี่ได้รับปล่อยตัวไปแล้ว แต่พอมีข่าวว่านายชัยวัฒน์กับเจ้าหน้าที่อุ้มนายบิลลี่หาย รู้สึกงงมากว่าข่าวออกมาได้อย่างไร

หลังการหายตัวไปของนายบิลลี่ ได้มี 23 องค์กรด้านชาติพันธุ์ ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตามหาตัวบิลลี่และหาผู้ กระทำผิด พร้อมขอให้คุ้มครองครอบครัวนายบิลลี่ รวมถึงขอให้มีคำสั่งย้ายนายชัยวัฒน์หัวหน้าอุทยานแก่งกระจานออกนอกพื้นที่ นอกจากนี้กรณีนี้ยังเป็นที่สนใจของเจ้าหน้าที่โครงการนิติศาสตร์สากล ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ( ICJ) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กระทั่งผู้อำนวยการทั้ง 2 แห่งมีการลงพื้นที่สอบถามติดตามสถานการณ์การหายตัวไปของนายบิลลี่ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังประสานไปยังตำรวจ ตชด., ทหาร ฉก.ทัพพระยาเสือ และ ชรบ.ในพื้นที่แก่งกระจาน รวม 170 นายพร้อมสุนัขตำรวจโทรออสก้า สุนัขดมกลิ่นจาก กก.ถวายอารักขาฯ วังไกลกังวล อ.หัวหิน มายังบริเวณสี่แยกบ้านมะค่า ซึ่งเป็นจุดที่นายชัยวัฒน์ให้ปากคำว่าเป็นจุดปล่อยตัวนายบิลลี่ โดยเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเดินค้นหาสองข้างทางจากริมถนนใน 4 เส้นทาง แต่ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ หรือร่องรอยที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุการสูญหายของนายบิลลี่แต่อย่างใด

ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายนิพนธ์ โชติบาล รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ และนายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทั้งในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงออกหาข่าวเพื่อตามตัวนายบิลลี่ทั้งที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่ ต.ป่าเด็ง ซึ่งเป็นบ้านที่นายบิลลี่อยู่กับภรรยา และพื้นที่ตามแนวชายแดน ตลอดจนสนับสนุนการทำงานของทุกหน่วยงาน ส่วนนายชัยวัฒน์ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ในสังกัดที่อยู่ใกล้เคียง จำนวน 80 นายออกหาข่าวและให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่

วันที่ 24 เมษายน 2557 นายอานนท์ นำพา พร้อมด้วยนายธีรพันธุ์ พันธุ์ดีรี และ น.ส.วราภรณ์ อุทัยรังสี คณะทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่สภาทนายความส่งมาให้ดูแลคดีนายบิลลี่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 90 อ้างว่านายบิลลี่ถูกนายชัยวัฒน์กับพวกจับกุมไว้ ขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่ เนื่องจากถูกควบคุมโดยไม่ชอบ ซึ่งนายชัยวัฒน์เปิดเผยว่ารู้สึกดีใจที่ฝ่ายที่พยายามกล่าวหาตนได้ใช้กระบวนการทางศาลพิสูจน์ความจริง แม้จะทราบว่าฝ่ายที่กล่าวหาพยายามจะบอกว่านายบิลลี่อยู่ในความควบคุมของเจ้าที่อุทยานฯ โดยไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้ประเด็นนี้มีน้ำหนักได้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะแสดงพยานหลักฐานให้ศาลได้เห็นทั้งหมดว่าขบวนการนี้มีใครทำอะไรที่ในอุทยานฯบ้าง และใครที่อยู่เบื้องหลังการบุกรุกทำลายป่า ล่าสัตว์ป่า ใครที่มีอคติกับตน ผูกใจเจ็บกล่าวหาและหาเรื่องดำเนินคดีกับตนทั้งเรื่องเถาวัลย์ป่าถล่ม กระทั่งกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯเผาบ้านชาวกะหร่างตั้งแต่ปี 2553-2554 ทั้งที่เมื่อกลางปี 2556 ศาลได้มีคำพิพากษาให้ตนพ้นข้อกล่าวหานี้มาแล้ว วันนี้ยังพยายามจะฟ้องตนที่ศาลปกครองอีก ถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง พร้อมสู้คดีถึงที่สุด ยังสงสัยว่าการหายตัวของบิลลี่สมควรต้องเร่งสืบหา มิใช่เร่งกล่าวหา

ในช่วงการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดเพชรบุรี ได้มีตัวแทนกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน จ.เพชรบุรี ประกอบด้วย กลุ่มคนเพ็ชร์รักษ์ป่า, กลุ่มดูนกเพชรบุรี, เครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำเพชรบุรี, กลุ่มคนจิตอาสาเพชรบุรี, กลุ่มคนรักเมืองเพชร, กลุ่มคนรักษ์เขาแด่น, ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวแก่งกระจาน-ลุ่มน้ำเพชร ฯลฯ พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ในเขตพื้นที่ อ.แก่งกระจาน และประชาชน ในนามกลุ่มบุคคลที่รักและภูมิใจในการปฏิบัติงานของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร นำโดยนายเกียรติศักดิ์ กล่อมสกุล นายสมชาย มีนุช นางกุลสกาวว์ เลาหสถิตย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ พนักงานและลูกจ้างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กว่า 500 คน ถือป้ายผ้าข้อความต่าง ๆ ในการให้กำลังใจนายชัยวัฒน์ และประณามการทำงานของ NGO บางคนที่มีอคติต่อนายชัยวัฒน์ตลอดมา และประณามการทำหน้าที่ของสื่อบางสำนักมุ่งเสนอข่าวนายชัยวัฒน์ในแง่ลบเพียงด้านเดียว พร้อมกันนี้ได้ไปยื่นหนังสือเดินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเพชรบุรี ร้องขอความเป็นธรรมให้แก่นายชัยวัฒน์ด้วย

วันที่ 17 กรกฏาคม 2557 ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิพากษายกคำร้อง เนื่องจากพยานฝ่ายผู้ร้องมีน้ำหนักไม่พอฟัง ข้อเท็จจริงยังมีไม่เพียงพอที่จะระบุให้เชื่อได้ได้ว่านายพอละจีถูกนายชัยวัฒน์และพวกควบคุมตัว

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้อง และวันที่ 2 กันยายน 2558 ศาลฏีกาได้มีคำพิพากษายืนเช่นกัน โดยสรุปได้ว่าพยานผู้ร้องคือนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง เป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ฟังมาจากพี่ชายของนายบิลลี่ และ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกมีส่วนในการหายตัวไปของนายบิลลี่

วันที่ 4 สิงหาคม 2558 นางพิณนภาภรรยานายบิลลี่ได้ยื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้คดีการหายตัวของนายบิลลี่เป็นเป็นคดีพิเศษ เนื่องจาก 1 ปีกับ 6 เดือนแล้วก็ยังไม่รู้ชะตากรรมของนายบิลลี่
ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ให้คดีนี้เป็นคดีพิเศษ มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ และมีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ประกอบไปด้วย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้พระนครเหนือ, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และตัวแทนจากองค์การนอกภาครัฐ (NGO) ร่วมกันสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องมาโดยตลอด

กระทั่งเมื่อวันที่ 26 เมษายน – 24 พฤษภาคม 2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนักประดาน้ำจากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวนเขื่อนแก่งกระจาน ตรวจสอบพบชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน ตรวจพิสูจน์พบว่าเป็นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ และผลการตรวจสารพันธุกรรม กองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์พบว่ามีสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ ซึ่งเป็นมารดาของนายบิลลี่

วันที่ 3 กันยายน 2562 ได้มีการไปตรวจสอบบริเวณที่มีการระบุว่าพบเศษกระดูกและถังน้ำมันดังกล่าว พบว่าเป็นบริเวณสะพานแขวนตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กม. เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจุดหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมและถ่ายรูปเซลฟี่จำนวนมาก สะพานแขวนดังกล่าวตัวสะพานทำด้วยลวดสะลิงขนาดใหญ่แขวนระหว่างสองฝั่ง จากบริเวณริมอ่าง ข้ามไปยังเกาะซึ่งอยู่ห่างออกไปจากฝั่งถนนประมาณ 500 เมตร พื้นสะพานเป็นไม้หน้า 3 วางเรียงกันเป็นทางเดินต่อเนื่อง ขึงอยู่สูงกว่าระดับน้ำในระดับที่เรือสามารถแล่นลอดผ่านได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันสะพานแขวนดังกล่าวอยู่ในสภาพทรุดโทรมและห้ามนักท่องเที่ยวเดินข้ามไปยังเกาะเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย

ส่วนจุดบริเวณที่มีการชี้ว่าพบถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร และเศษกระดูกซึ่งระบุว่าเป็นของนายบิลลี่ เบื้องต้นเป็นบริเวณใต้น้ำ ช่วงเกือบถึงกลางสะพาน ห่างจากแต่ละฝั่งประมาณ 250 เมตร

คดีนี้คณะกรรมการฯแถลงเพียงพบชิ้นส่วนกระดูกที่ถูกเผาไหม้แล้วนำใส่ถังน้ำมันทิ้งลงในอ่างแก่งกระจาน ตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์พบว่าตรงกับมารดาของนายบิลลี่ แต่ยังมีขั้นตอนตรวจ DNA ของบุตรนายบิลลี่ด้วยว่าตรงกันหรือไม่ และยังมิได้ชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ทำให้บิลลี่หายตัวไปและใครเป็นผู้ฆ่าหรืออยู่เบื้องหลังฆ่านายบิลลี่.

(ทีมข่าวภูมิภาค)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image