‘กาฬสินธุ์’ นำร่องเมืองข้าว กับการเพิ่มประสิทธิภาพพืชเศรษฐกิจหลัก

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพืชเศรษฐกิจหลักและพืชทางเลือก ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินโครงการ “นำร่องเมืองข้าว : จังหวัดกาฬสินธุ์” ให้ได้ตามมาตรฐาน ACT-IFOAM และ ACT-EU equivalent

นายวรพล ภูภักดี เกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพืชเศรษฐกิจหลักและพืชทางเลือก ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินโครงการ “นำร่องเมืองข้าว : จังหวัดกาฬสินธุ์” ให้ได้ตามมาตรฐาน ACT-IFOAM และ ACT-EU equivalent เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพืชเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะข้าว ซึ่งมีเกษตรกรทำนา 3 กลุ่ม จำนวน 479 ราย ร่วมโครงการ ประกอบด้วยกลุ่มผู้ไทย 1 ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ กลุ่มผู้ไทย 2 ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ และกลุ่มข้าวอินทรีย์ กส 5 พลัง ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์

นายอำนวย สุระเสียง ประธานกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองห้าง หรือกลุ่มผู้ไท 1 ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ไท 1 มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 2,000 ไร่ มีสมาชิก 424 ราย การรวมกลุ่มกันครั้งแรกคือเป็นออร์แกนิค ไทยแลนด์ หลังจากนั้นก็มีการประชาสัมพันธ์และก็มีการสร้างมาตรฐานต่างประเทศ คือ Act – EU Equivalent และมีการรวมกันขึ้นเป็นกลุ่มข้าวผู้ไทย ประกอบด้วย ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง ต่อมาได้ศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของ จ.กาฬสินธุ์ เป็นแหล่งข้าวคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.หนองห้างนั้น เป็นเขตข้าวที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือว่าข้าว GI (Geographical Indications) จึงนำกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมกับโครงการนาแปลงใหญ่ เพื่อต่อยอดเกี่ยวกับขบวนการผลิตและลดต้นทุน เป็นการการพัฒนาข้าวให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย การนำเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้พร้อมกับเสริมคำว่า “ข้าวGIอินทรีย์” หรือว่าข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์อินทรีย์ขึ้นมา ก็จะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยการขายทางออนไลน์หรือส่งตามห้างสรรพสินค้า

Advertisement

ด้านนางสีสุพัน อุทรักษ์ ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หรือกลุ่มผู้ไท 2 ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กล่าวว่า กลุ่มผู้ไท 2 มีสมาชิก 26 ราย มีพื้นที่ 320 ไร่ มีการปลูกข้าว พืชผัก และไม้ผล เป็นการทำเกษตรครบวงจร ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยได้ทำเกษตรอินทรีย์ เพราะว่าจะทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และในส่วนของการตลาด ก็สามารถต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้ ในปัจจุบันพี่น้องเกษตรกรผลิตสินค้าที่ส่งขายไปยังหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อส่งโรงพยาบาลและแปรรูปเป็นขนมวางขายในตลาด จุดเด่นของเกษตรอินทรีย์ ต.กุดหว้า คือ ข้าวขาว หอม นุ่ม เพราะเราทำแบบอินทรีย์มาตั้งแต่โบราณ ต้นทุนการผลิตของต่อไร่จะลดต้นทุนการผลิตได้มาก เพราะใช้ปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมักเอง เฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาท ต่อไร่

ขณะที่นางสมจันทร์ ดอนสินพูล ประธานกลุ่มกลุ่มข้าวอินทรีย์ กส 5 พลัง หรือกลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านโหมน ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์กล่าวว่า จากจุดแข็งของบ้านโหมนเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง และมีเครือข่ายปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ ในพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.ฆ้องชัย อ.ยางตลาด อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ห้วยเม็ก และ อ.คำม่วง มีพื้นที่การเกษตรอยู่ 300 ไร่ มีสมาชิก 29 ราย เกษตรอินทรีย์เริ่มต้นจากแนวคิดการทำนา แต่ก่อนใช้การทำแบบเคมีและปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ผลผลิตตกต่ำและไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ จึงปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรข้าวอินทรีย์เพื่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ และหน่วยงานของภาครัฐ เข้ามาสนับสนุนเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ และเข้ามาดูแลเรื่องการขอมาตรฐาน จึงทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจทำเกษตรแบบอินทรีย์ เรื่องต้นทุนการผลิตจะมีการบันทึกข้อมูล บันทึกตั้งแต่เริ่มเตรียมดินจนถึงกระทั่งเก็บเกี่ยว และในอนาคตอยากให้ จ.กาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด เพื่อเป็นการดูแลเรื่องสุขภาพ คนในครอบครัว และคนในชุมชน

Advertisement

ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพืชเศรษฐกิจหลักและพืชทางเลือก ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินโครงการ “นำร่องเมืองข้าว : จังหวัดกาฬสินธุ์” ให้ได้ตามมาตรฐาน ACT-IFOAM และ ACT-EU equivalent หวังเป็นที่ยอมรับของลูกค้าในประเทศ และจะมีการส่งออกต่างประเทศในอนาคตอันใกล้นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image