‘โคราช’ ภัยแล้งวิกฤต 4 เขื่อนใหญ่ 23 เขื่อนกลาง เหลือน้ำใช้การแค่ 26 เปอร์เซ็นต์! (ชมคลิป)

เมื่อวันที่ 8 กันยายน นายสมบัติ ไตรศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา เปิดเผยว่า การสนับสนุนทรัพยากรกู้ภัยไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยจากอิทธิพลของพายุโพดุลในพื้นที่จังหวัดยโสธร ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ พร้อมรถบรรทุก และเรือยนต์กู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 6 ลำ เดินทางไปสนับสนุนการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามการร้องขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยของศูนย์ ปภ. เขต 13 อุบลราชธานีแล้ว ซึ่งผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” และพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ รวม 32 จังหวัด มีประชาชนได้รับผลกระทบ 335,832 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 24 ราย จนถึงขณะนี้ ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ต้องอพยพประชาชน 3,438 คน ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร และ อุบลราชธานี รวม 15 จุด

ซึ่งหน่วยงานสังกัดกรม ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมระดมวัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกเครื่องส่งสูบน้ำระยะไกล เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมถึงดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประภัย แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น รวมถึง จัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยและเรือท้องแบน ให้บริการขนย้ายสิ่งของและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน ตลอดจนสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังตามลำดับต่อไป

Advertisement

“ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา มีบางอำเภอที่ได้รับผลกระทบบ้าง แต่สถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว คงเหลือแต่สถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงที่ยังวิกฤตอยู่หลายพื้นที่อำเภอ แม้ว่าจะฝนตกช่วยเติมน้ำลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในห้วงที่ผ่านมา แต่ภาพรวมยังถือว่าน่าเป็นห่วงอยู่ เพราะปริมาตรน้ำเก็บกักใน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจังหวัดนครราชสีมา เหลือน้ำรวมอยู่ที่ 366 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 30.11% เท่านั้นและเป็นน้ำใช้การได้เพียง 303 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 26.33% ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาตรน้ำเหลือไม่ถึง 50% ทั้ง 4 อ่าง โดยอ่างเก็บน้ำลำตะคอง สภาพน้ำปัจจุบันเหลือปริมาตรน้ำ 156 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 49.88 % เป็นน้ำใช้การได้ 134 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 45.98 % ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง เหลือปริมาตรน้ำ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 16.41 % และเป็นน้ำใช้การได้ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 16.02% เท่านั้น ส่วนอ่างเก็บน้ำมูลบน เหลือปริมาตรน้ำ 38 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 26.96 % เป็นน้ำใช้การได้ 31 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.15 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ เหลือปริมาตรน้ำ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 25.06% เป็นน้ำใช้การได้ 61 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.11% และสำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 อ่าง เหลือปริมาตรน้ำรวม 77 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.27 % เป็นน้ำใช้การได้เพียง 52 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 17 %

ทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ด้วยการแจกจ่ายน้ำให้กับหมู่บ้านเป้าหมายของจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 15 อำเภอ 39 ตำบล 64 หมู่บ้าน ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำอย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำให้เพียงพอ” นายสมบัติกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image