อัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ชี้ แนวโน้มความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กบนโซเชียลมากขึ้น ย้ำ อย่าลั่นไลค์-แชร์

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 กันยายน ที่หอประชุมโรงเรียนเพชรพิทยาคม อ.เมืองเพชรบูรณ์ นายอธิวัฒน์ ชิดอรุนธนวัฒน์ อัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายศุภชัย เศวตกิตติกุล อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดเพชรบูรณ์ นางวรรณภา สุขคง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมเสวนาถึงสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในจังหวัดเพชรบูรณ์ ตามโครงการสำนักงานอัยการจังหวัดยุติความรุนแรงประจำปี 2562 โดยมีครูและนักเรียนระดับมัธยมซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายกว่า 300 คนเข้าร่วมรับฟัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอธิวัฒน์ได้หยิบยกข้อกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ขึ้นให้ความรู้ โดยระบุว่า เรื่องความรุนแรงไม่ใช่มีเฉพาะแค่การกระทำ แต่คำพูดหรือด่าทอก็ถือเป็นความรุนแรงด้วย ส่วนการนำภาพวิวาททะเลาะตบตีกันไปเผยแพร่บนสื่อโซเชียลถือเป็นความรุนแรงด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันการทำความรุนแรงบนสื่อโซเซียล ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายปัจจุบันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ นายอธิวัฒน์ยังฝากเน้นถึงเรื่องการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือเป็นช่องทางที่กระทำความผิดที่รวดเร็วและให้จำไว้ว่า มืออย่าลั่นในการกดไลค์ กดแชร์ ต้องพิจารณาอ่านหรือดูให้ดีและละเอียดรอบคอบก่อน ส่วนพวกนักรบไซเบอร์ หรือปลอมโปรไฟล์ หรือประเภทอวตาร และเกรียนคีย์บอร์ดทั้งหลาย บทสรุปสุดท้ายของคนกลุ่มเหล่านี้ล้วนจบหรือต้องลงเอยโดยการถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษด้วยติดคุกติดแทบทั้งสิ้น

ด้านนายศุภชัยกล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการตามรอยพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงต้องการยุติความรุนแรงและทรงรับเป็นองค์ทูตสันถวไมตรีของกองทุนพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ เหตุสำคัญที่ต้องมาดำเนินโครงการนี้เพราะในคดีแล้วการบังคับใช้กฎหมายยังไม่น่าพอใจ มีคดีที่เข้าสู่อัยการและฟ้องร้องต่อศาลยังไม่มาก จึงไปหาสาเหตุว่าทำไม ในเมื่อกฎหมายก็มีแล้ว องค์กรที่รองรับก็มีแล้ว แต่คดีความรุนแรงยังไม่น่าพอใจ ทั้งที่ปัญหาความรุนแรงกับสังคมไทยยังมีมากและมีอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

Advertisement

“ในทัศนคติของครอบครัวในสังคมไทยยังมองเรื่องความรุนแรงเป็นปัญหาในครอบครัว หรือมองว่าเป็นครอบครัวเขาไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทุกวันนี้จึงจำเป็นต้องปลูกฝังให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยต่อไปนี้ต้องมีมุมมองใหม่ว่า เรื่องความรุนแรงไม่ใช่ปัญหาของครอบครัว แต่เป็นปัญหาของสังคมและผิดต่อกฎหมาย” นายศุภชัยกล่าว

ขณะที่นางวรรณภา นอกจากจะเชิญชวนให้นักเรียนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระว้งการกระทำความรุนต่อเด็กและผู้หญิงแล้ว ยังแนะนำช่องทางการแจ้งเบาะแสหากพบการกระทำรุนแรงเกิดขึ้น โดยสามารถแจ้งทางศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ซึ่งเปิดรับข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางหมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ทั้งนี้นางวรรณายังระบุด้วยว่า สำหรับ จ.เพชรบูรณ์ ยังมีประชาชนขอความช่วยเหลือค่อนข้างผิดกับจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะแถบภาคตะวันออกซึ่งมีการขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image