สำนักงานนวัตกรรมฯ เปิดตัว ‘ธนาคารน้ำใต้ดินชุมชนหนองมะโมง’ แก้แล้ง-ท่วมในชุมชน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 กันยายน ที่สำนักงานเทศบาลตำบลหนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และเทศบาลตำบลหนองมะโมง จ.ชัยนาท เปิดตัว 2 นวัตกรรม โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) และโครงการการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในพื้นที่ชุมชนหนองมะโมง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในระดับชุมชน โดยมีนายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นายชูชีพ สุพบุตร นายกเทศบาลตำบลหนองมะโมง และ ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGeo) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำเยี่ยมชมโครงการ

นายวิเชียรกล่าวว่า โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) สำหรับชุมชนหนองมะโมงเกิดจากแนวคิดของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ต้องการกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากชัยนาทเป็นพื้นแห้งแล้ง ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ดังนั้น หน่วยงานท้องถิ่นจึงมีแนวคิดทำธนาคารน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ โดย NIA เข้าไปสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว พร้อมทั้งมีโครงการที่จะทำธนาคารน้ำจำนวน 55 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 34 หมู่บ้านในตำบล โดยธนาคารน้ำ (แบบปิด) มีธีการทำโดยการหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม กว้าง ยาว และลึก 1.5 เมตร ใช้ก้อนหินและชั้นทรายวางจนเต็มก้นหลุมเพื่อให้ได้น้ำที่ใสสะอาด แตกต่างจากการใช้ขวดหรือยางรถยนต์เป็นตัวกรองในชุมชนอื่น และการขุดไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก ไม่ต้องเปิดหน้าดินเป็นวงกว้าง จึงไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่จำเป็นจะต้องมีการศึกษาด้านธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์ เพื่อหาจุดลุ่มต่ำ หรือจุดที่เป็นทางน้ำไหล เพื่อให้น้ำสามารถไหลลงธนาคารน้ำใต้ดินได้ โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก

“รูปแบบการทำธนาคารน้ำแบบปิดมีข้อดีคือ สามารถทำให้น้ำไหลลงบ่อใต้ดินได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยในช่วงฤดูฝน ธนาคารน้ำจะสามารถรีชาร์ตน้ำลงบ่อได้รวดเร็ว ลดการท่วมขังในพื้นที่ ส่วนหน้าแล้งก็สามารถนำน้ำที่กักเก็บไว้มาใช้ได้ นอกจากนี้การทำธนาคารน้ำยังช่วยทำให้ดินชุ่มน้ำและอุ้มน้ำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ดินบริเวณที่ทำธนาคารเกิดตาน้ำใต้ดิน มีน้ำไหลตลอดไม่ขาดสาย ซึ่งหลังจากนั้นประชาชนสามารถขุดน้ำบาดาลและน้ำประปาขึ้นมาใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อน้ำเหมือนที่ผ่านมา” นายวิเชียรกล่าว

Advertisement

นายวิเชียรกล่าวว่า ส่วนโครงการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พื้นที่ชุมชนหนองมะโมง เป็นนวัตกรรมด้านกระบวนการออกแบบและวางแผนระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ เช่น ข้อมูลการตรวจวัดทางสถิติด้านทรัพยากรแหล่งน้ำ แผนผังการบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำเพื่อวางแผนและออกแบบการดำเนินงานธนาคารน้ำใต้ดิน ที่สามารถจัดสรรการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรแหล่งน้ำในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการเทคโนโลยีด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำในชุมชน ศึกษาทั้งข้อมูลทางด้านกายภาพ ได้แก่ สภาพภูมิประเทศของพื้นที่ชุมชน สภาพทางธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา ขอบเขตลุ่มน้ำ ทางน้ำ ระดับน้ำ และทิศทางการไหลของน้ำใต้ดิน ศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน และข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้แก่ คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ข้อมูลพื้นพี่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม โดยจัดทำเป็นแผนที่แสดงข้อมูลด้านต่างๆ ในมาตราส่วนที่มีความหมาะสม เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเตรียมรับมือกับสภาพปัญหาด้านน้ำในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รวมทั้งการติดตามตรวจวัดค่าข้อมูลเชิงสถิติทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อนำมาประเมินผลความคุ้มทุนคุ้มค่า และผลประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งหากได้ผลดี ในอนาคตจะเสนอเป็นแผนงานการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรมต่างๆ ให้กับชุมชนและท้องถิ่นต่อไป

นายวิเชียรกล่าวอีกว่า ทั้ง 2 โครงการเป็นตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดปัญหาขาดแคลนน้ำในระดับชุมชน และทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค หรือกิจกรรมอื่น เช่น การเกษตร ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาดูงานต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ซึ่งคาดว่าจะขยายผลสู่ชุมชนอื่นที่ประสบปัญหาเดียวกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image