โลกยังมืด! “ชาวนาโยง” ร้องไม่มีไฟฟ้าใช้แม้ขอหน่วยงานรับผิดชอบแต่ก็ยังเงียบ ฝากส.ส.แก้ไขไขด่วน

 

ผู้สื่อข่าวได้รับเรื่องร้องทุกข์จากชาวบ้านหมู่ที่ 5 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง จำนวน 19 ครัวเรือน 64 คน ว่า ได้รับความเดือดร้อนไม่มีไฟฟ้าใช้มานาน ซึ่งที่ผ่านมาผู้นำชุมชนได้ติดต่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าเรื่องเงียบหาย ไม่มีการเข้าชี้แจงเหตุผลว่าทำไม เพราะอะไรขอความช่วยเหลือไปแล้วแต่ไม่ได้รับการเข้ามาช่วยเหลือ

ซึ่งระยะทางที่ผู้สื่อข่าวเดินทางเข้าไปเป็นเส้นทางที่ไม่ได้มีการพัฒนาลาดยางหรือคอนกรีตแต่อย่างใด มีบ้านเรือนที่สร้างแบบถาวรสร้างอยู่ห่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ตลอดเส้นทางที่สายไฟฟ้าที่ชาวบ้านติดตั้งขึ้นเอง เพื่อพ่วงไฟฟ้าจากบ้านที่ใกล้ถนนใหญ่ ซึ่งพบว่าบางบ้านก่อนหน้านี้ทางการได้เอาแผ่นโซล่าเซลมาให้ใช้สร้างกระแสไฟฟ้า แต่ต่อมาเสื่อมสภาพและใช้งานไม่ได้ยังคงเหลือซากชิ้นส่วนให้ได้เห็น การเป็นอยู่ในแต่ละครัวเรือนบางบ้านก็มีเด็กเล็ก ๆ หลายคน ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกแต่อย่างใด

นางสาวสุลาวัลย์ ชัยเพชร อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 146 หมู่ที่ 5 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง เล่าว่า ตนเองอาศัยอยู่บ้านหลังนี้มานานแล้ว จนมีครอบครัวและมีลูกเล็ก ๆ เมื่อก่อนนี้อาศัยใช้เทียนไขเพื่อให้แสงสว่าง แต่พอมีลูกก็ต้องเปลี่ยนมาใช้หม้อแบตเตอรี่แทนเพราะกลัวจะเป็นอันตรายต่อลูก ๆ ต้องยอมรับว่าได้รับความลำบากมากที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องออกไปซื้อเทียนไขเพื่อมาจุดให้แสงสว่าง ต้องรีบหุงหาอาหารจากเตาถ่าน กินข้าวก่อนตะวันจะตกดิน ตนเองสงสารอนาคตของลูก ๆ ต่อไปภายหน้าอยากให้มีไฟฟ้าใช้ส่องแสงสว่างเหมือนครอบครัวอื่น ๆ ตั้งแต่หันมาใช้หม้อแบตเตอรี่ก็มีความลำบากต้องเอาไปชาร์ตไฟในพื้นที่ห่างไกลออกไป เมื่อชาร์ตมาแล้วใช้ได้เพียง 10 วันเท่านั้น เพราะต้องส่องสว่างตั้งแต่หัวค่ำ ที่บ้านไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเลย ไม่มีแม้แต่พัดลมยามลูกร้อนก็ใช้กระดาษพัดช่วยคลายความร้อน ตนเองต้องการให้หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือติดตั้งไฟฟ้าให้เพราะตนเองและชาวบ้านเดือดร้อนมานานมากแล้ว

Advertisement

นาวสาวเยาวลักษณ์ ช่วยพันธ์ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 223 หมู่ที่ 5 ต.ช่าง อ.นาโยง จ.ตรัง กล่าวว่า ไม่มีไฟฟ้าใช้เดือดร้อนมาก บางเดือนต้องกู้ยืมเงินเอามาจ่ายค่าไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านที่ต่อพ่วง เพราะรายได้น้อยทำอาชีพกรีดยางอย่างเดียวไม่มีรายได้อะไรเสริมเลย สำหรับตนและครอบควัวอยู่ที่นี่มา 40 กว่าปีแล้วก็ยังไม่มีใช้ ไม่มีเสาไฟ ทุกวันนี้ต้องไปพ่วงจากบ้านอื่น หนึ่งหม้อต่อ 3 บ้าน เมื่อพ่วงไฟฟ้าจากคนอื่นก็ต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการมีไฟฟ้าใช้เหมือนกับชุมชนและบ้านอื่นๆที่มีไฟฟ้ามานานแล้ว ซึ่งรายได้แต่ละคนไม่เกิน 300 บาทต่อคนต่อวัน
จากการที่มีหน่วยงานลงมาสำรวจ เขาให้เหตุผลว่าที่ดินติดของป่าไม้ ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ทำกิน และไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมเจ้าหน้าที่ไม่รีบดำเนินการให้ เพราะชาวบ้านร้องเรียนมาประมาณ 3-4 ปี แต่ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าส่งเอกสารแล้ว แต่ชาวบ้านไม่ได้เห็นหลักฐาน หรือเหตุผลเพียงพอว่าติดขัดตรงไหนหรือเหตุผลอะไรที่ไม่ได้ดำเนินการทำให้ ไม่อธิบายให้ละเอียดเพียงแต่แจ้งว่าส่งเอกสารแล้วเท่านั้น แต่ชาวบ้านไม่เห็นว่าหลักฐานเอกสารส่งไปอยู่ตรงไหน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาสำรวจแล้วแจ้งว่าไม่ติดขัดอะไรเพราะอยู่นอกพื้นที่ ส่วนทางด้านไฟฟ้าแจ้งว่าทางการไฟฟ้าต้องการหนังสือรับรับรองจากผู้นำและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแลพื้นที่ดังกล่าวก่อน จากการที่ตนเองไม่มีไฟเองลำบากมากต้องเจียดเงินจากรายได้แต่ละวันเก็บสะสมไว้เป็นค่าไฟฟ้าที่แต่ละเดือนสูงมาก
ทางด้านนายกติ แต้มประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.ช่อง กล่าวว่า ชาวบ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จำนวน 19 ครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้มาหลายปีแล้วตนพยายามติดตามอยู่ แต่ช่วงหลังมาตนเองเข้าไปติดต่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้ว เขาก็ประสานให้แต่ไปติดอยู่ที่ไฟฟ้าอ้างว่าทับซ้อนเขตป่าสงวนฯ แต่ทางหน่วยงานป่าไม้ยืนยันมาแล้วว่าอยู่นอกเขต เอกสารที่ส่งไปทุกรอบก็หายทุกรอบไม่เคยคิดที่จะดำเนินการต่อให้ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เด็กจะทำการบ้านก็ไม่มีไฟ รีดผ้าไปโรงเรียนก็ไม่ได้ จะเพิ่มหม้อไฟให้แต่เสาเต็มไปหมดแล้ว ทั้งนี้ตนเองได้ร้องเรียนไปหลายหน่วยงานแล้ว จึงอยากให้สื่อช่วยอีกแรง เพื่อชาวบ้านจะได้มีไฟฟ้าใช้ เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้ประสานไปยัง นายเจริญธพงศ์ มาชู ปลัดอวุโสอำเภอนาโยง เจ้าของพื้นที่ และผู้ที่เคยเข้าไปรับทราบปัญหาจากชาวบ้านก่อนหน้านี้ ได้กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวบ้านในหมู่ที่ 5 ต.ช่อง อ.นาโยง ไม่สามารถขอขยายเขตเพื่อติดตั้งเสาไฟฟ้าได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ติดเขตป่าสงวนแห่งชาติ แม้จะมีเลขที่บ้าน แต่ไม่สามารถขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าได้ การไฟฟ้าภูมิภาคนาโยง ต้องได้รับการยินยอมจากกรมป่าไม้ เจ้าของพื้นที่ก่อนจึงจะสามารถขยายเขตติดตั้งเสาไฟฟ้าเข้าในพื้นที่ได้ ตนเข้าใจถึงความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ไม่มีไฟฟ้า ทางอำเภอก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image