สาธารณสุขตรัง เผยไมโครพลาสติกเจอในสัตว์น้ำทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่อุจจาระคน 20 กรัมพบ 20 เม็ด

สสจ.ตรัง แจงไมโครพลาสติกไม่ได้อยู่ในเฉพาะปลาทู แต่อยู่ในสัตว์น้ำทั่วไป พบในอุจจาระคน 20กรัมพบไมโครพลาสติกถึง 20เม็ด เผยปัญหาเกิดจากการขาดวินัย

วันที่ 13 กันยายน ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง นายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒน์ปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวถึงผลงานการวิจัยค้นพบไมโครพลาสติกในปลาทู กระทั้งสร้างกระแสตื่นตระหนก ว่าเมื่อคนรับประทานปลาหรือสัตว์น้ำทางทะเลที่กินไมโครพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้น โดยความเห็นว่า ที่ผ่านมาเป็นที่น่าเสียดายที่จังหวัดตรังสูญเสียพะยูนน้อย “มาเรียม”ไปขณะที่ท่ามกลางความเสียดายได้รับความสนใจไปทั่วโลก ซึ่งสาเหตุการตายของพะยูนน้อย “มาเรียม”มาจากกินพลาสติกลงไป และเป็นตัวกระตุ้นให้มนุษยชาติว่าต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องปัญหาขยะกันอย่างจริงจัง ต้องยอมรับว่าขยะที่จัดการยากก็คือขยะพลาสติก แต่การจัดการอาจจะยากในบางสังคมเนื่องจากสังคมไทยขาดวินัยในการจัดการขยะ ซึ่งจริงแล้วตัวพลาสติกเองสามารถนำมาใช้งานใหม่ได้ถ้ามีการจัดการที่ดีถ้ามองในแง่การใช้ก็เป็นประโยชน์อยู่

นายแพทย์บรรเจิด กล่าวว่า ถ้าดูในรายละเอียดทางวิชาการพลาสติก จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปของแพ็กเกจเก็บอาหาร เก็บสิ่งของเครื่องใช้ได้ดี แต่มาถึงวันนี้เราเห็นขยะที่อยู่บนบกลงสู่ทะเล สัตว์ทะเลไม่รู้ว่าอะไรกินได้อะไรกินไม่ได้ เช่นการตกปลาใช้เหยื่อปลอม เป็นไม้ เป็นพลาสติก เป็นโลหะ ปลาก็ฮุบกิน เพราะฉะนั้นมันไปทำลายสิ่งมีชีวิตร่วมโลกของเรา แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมองกันว่าไกลตัวแต่ขณะนี้เราเริ่มรับรู้ว่ามาใกล้ตัวแล้ว ทำให้กระแสของไมโครพลาสติกเกิดขึ้น

“คำถามว่าไมโครพลาสติกคืออะไร บอกว่าขนาดของพลาสติกขนาด 5 มิลลิเมตรลงไปเรียกว่าไมโครพลาสติก และมันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร มีอยู่ 2 กลุ่มๆแรกคือเจตนาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกเล็กๆเอาไปใส่ในยาสีฟัน ที่ขัดผิว ครีมขัดผิว เป็นส่วนผสมที่ใช้อยู่ในประจำวันยาสีฟันแปรงเสร็จบ้วนทิ้งก็ไหลลงท่อน้ำเสีย ในที่สุดก็ไหลลงคลองทะเล กลุ่มที่ 2 เกิดไมโครพลาสติกที่สลายโดยธรรมชาติ เช่นพลาสติกที่วางไว้เฉยๆโดยแดด ลม ฝนในที่สุดก็แตกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและไหลลงสู่แหล่งน้ำในทะเลเองก็สร้างขึ้นมาได้จากชาวประมงใช้อวนที่ทำจากไนลอน หรือแม้กระทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับปลา อาทิ ทุ่น ลูกลอยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ยางรถยนต์บดกับถนนทุกวันก็สึกหรอกร่อนฝนชะล้างลงสู่แหล่งน้ำและไหลสู่ทะเล เหล่านี้ ถ้าเราจัดการไม่เป็นก็จะเจอปัญหาอย่างแน่นอน ทำให้ไมโครพลาสติกลงสู่ห่วงโซ่อาหารอย่างแน่นอน” นายแพทย์บรรเจิด กล่าว

นายแพทย์บรรเจิด กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาพบว่า อุจจาระคนผ่านการตรวจ 10 กรัม พบไมโครพลาสติก 20 เม็ดขึ้นไป หมายถึงว่าในทุกตัวคนมีไมโครพลาสติก คำถามว่ามันมาจากไหน ก็เพราะเราเป็นผู้บริโภคระบบห่วงโซ่อาหารในทะเล แม้กระทั้งสัตว์บกเองก็กินอาหารที่มีสารปนเปื้อนอยู่คำถามต่อว่า จะเกิดอันตรายกับคนหรือไม่ จนถึงขณะนี้ยังไม่ข้อสรุปที่ชัดเจนแต่ขอจินตนาการเชิงวิชาการของการสลายของพลาสติกจากชิ้นใหญ่ๆแตกสลายเป็นชิ้นเล็กๆ เหลือระดับนาโนเมตรหรือเล็กกว่านั้นให้หมายถึงว่าร่างกายเราสามารถดูดซับเข้าไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ได้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ส่งผลให้คนเราเกิดโรคขึ้นมาได้

Advertisement

“แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอันตรายจากไมโครพลาสติกมีมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เฉพาะปลาทู แต่ตว์น้ำชนิดอื่นๆ ได้รับเหมือนๆ กัน ยิ่งสัตว์ที่หากินกับโคลนตมเช่นหอย ปู และอื่นๆเพราะไมโครพลาสติกตกตะกอน สัตว์น้ำต่างๆก็กินเข้าไปหมด สรุปได้ว่าเรื่องของขยะอยู่ในภาวะวิกฤตมานาน ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6 ของโลกที่มีปัญหาขยะพลาสติกสู่ท้องทะเล เป็นเรื่องที่น่าวิตกและน่ากลัวมาก” นายแพทย์บรรเจิด กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image