จับกุมเรือ IUU สัญชาติแคเมอรูน ลักลอบเข้าน่านน้ำไทย

ศรชล.บูรณาการจับกุมเรือ IUU สัญชาติแคเมอรูน ลักลอบเข้าเขตน่านน้ำไทย

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 15 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมชั้น 2 กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ร.ท.รณภพ กาญจนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธการ (ผอ.ศยก.) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ ศรชล. ร่วมกับนายอดิศร พรหมเทพ อธิบดีกรมประมง, พล.ต.ท.จารุวัตร ไวศยะ ผบช.สำนักกฎหมายและคดี (กมค.) ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.), พล.ร.ต.วิธนรัชต์ คชเสนี รอง ผอ.ศรชล ภาค 3, นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล ปลัดจังหวัดภูเก็ต, นายสาคร ปู่ดำ ผู้แทนเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต และ พ.ต.อ.นิกร สมสุข ผกก.สภ.วิชิต จ.ภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าว การควบคุมเรือที่อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังกระทำความผิด การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU)

ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ศรชล.ประกอบด้วยกองทัพเรือ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร ตำรวจน้ำ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และชุดสหวิชาชีพ ได้ร่วมกันจับกุมเรือชื่อ UTHAIWAN สัญชาติแคเมอรูน ตามที่แสดงในระบบรายงานตนอัตโนมัติ โดยเรือดังกล่าวเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำขนาด 3,000 ตันกรอส ถูกจับกุมในเขตน่านน้ำไทย บริเวณชายฝั่งจังหวัดพังงา โดยเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายใน ศรชล. รวมถึงภาคเอกชนด้วย

พล.ร.ต.วิธนรัชต์กล่าวถึงรายละเอียดของการจับกุมว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา กรมประมงได้ตรวจพบสัญญาณระบบรายงานตนอัตโนมัติ หรือ AIS ของเรือ HONOR (ชื่อที่สอง) หรือชื่อเดิม WISDOM SEA REEFER (ชื่อที่หนึ่ง) หรือที่แจ้งจดชื่อในระบบว่า UTHAIWAN (ชื่อท้ายเรือ) ชักธงสัญชาติแคเมอรูน ซึ่งถูก IOTC ประกาศเป็นเรือ IUU เมื่อปีพุทธศักราช 2561 บริเวณด้านนอกของเกาะเฮ ทางใต้ของเกาะภูเก็ต ห่างประมาณ 5.5 ไมล์ทะเล และได้แจ้งข้อมูลให้ ศรชล.ภาค 3 ทราบ และ พล.ร.ท.สิทธิพร มาศเกษม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล.ภาค 3 ได้สั่งการให้นำเรือเข้าตรวจสอบเรือลำดังกล่าว โดยในเวลาประมาณ 18.00 น.ได้ให้เรือ ต.232 ออกเรือลาดตระเวนค้นหาและพิสูจน์ทราบ แต่ตรวจไม่พบเรือดังกล่าว เนื่องจากสัญญาณ AIS ขาดหายไปในช่วงค่ำ

Advertisement

ต่อมาในวันที่ 13 กันยายน เวลาประมาณ 08.00 น.ศรชล.ภาค 3 ได้สั่งการให้เฮลิคอปเตอร์ของราชนาวี ขึ้นบินค้นหาเรือเป้าหมาย แต่ก็ยังไม่พบ กระทั่งเวลาประมาณ 21.45 น. ได้รับแจ้งว่ามีการพบสัญญาณ AIS ของเรือลำดังกล่าว จาก ศรชล.อีกครั้งหนึ่ง จึงได้สั่งการให้เรือหลวงศรีราชา และ เรือ ต.113 ออกเรือลาดตระเวนค้นหา และพิสูจน์ทราบเป้าหมาย ร่วมกับเรือสปีดโบ๊ตของกรมเจ้าท่า ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 00.04 น. ของวันที่ 14 กันยายน เรือ ต.113 ได้ตรวจพบเรือเป้าหมาย ทางด้านทิศตะวันตกของกระโจมไฟเขาหน้ายักษ์ ระยะห่างประมาณ 7 ไมล์ โดยมีทิศทางแล่นขึ้นทางเหนือ จึงได้สั่งให้หยุดเรือ จากนั้นเวลาประมาณ 01.30 น.เจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพ จากเรือสปีดโบ๊ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารเรือ จากเรือ ต.113 ได้ขึ้นทำการตรวจสอบบนเรือเป้าหมาย โดยแยกสัมภาษณ์ลูกเรือเป็นรายบุคคล จากการตรวจสอบเบื้องต้น มีคนประจำเรือ 8 คน เป็นคนไทยทั้งหมด ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย จากนั้นเวลาประมาณ 04.15 น. ชุดตรวจค้นของเรือหลวงศรีราชา และเรือ ต.113 จึงได้ควบคุมเรือเป้าหมายกลับมายังท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต โดยให้จอดเรือทิ้งสมอ ณ ตำบลที่ที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต กำหนด พล.ร.ต.วิธนรัชต์กล่าว

นายอดิศรกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเรือดังกล่าวเป็นเรือ IUU จริง จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 94 ห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย ที่มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร

พล.ต.ท.จารุวัตรกล่าวเสริมว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบเจ้าของเรือลำดังกล่าวมีคนไทยเป็นเจ้าของเรือ ทราบแล้วว่าใคร หลังจากนี้ทางตำรวจจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยในส่วนของกฎหมายเจ้าท่า มีความผิดนำเรือไม่ได้รับอนุญาตเข้ามาในน่านน้ำไทย ขณะที่กฎหมายประมงนำเรือที่อยู่ในบัญชี IUU เข้ามาในน่านน้ำไทย และความผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ในข้อหาเข้าเมืองโดยไม่ผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะเร่งดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หลังจากมีการแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.วิชิต และจากนั้นจะมีการโอนคดีไปยังส่วนกลาง เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเฉพาะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image