ผู้ว่าฯราชบุรีติดตามเสือตาย หน.สถานีเพาะเลี้ยงฯเผยใช้แนวผ่าตัดลิ้นกล่องเสียงช่วยชีวิต เร่งสร้าง yard ให้อาศัย

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเสือโคร่งที่รับจากวัดป่าหลวงตาบัว จ.ราชบุรี 147 ตัวนำมาดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน และ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี ตายไป 86 ตัว คงเหลือ 61 ตัว โดยเสือโคร่งยังมีอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียงนั้น

ล่าสุด นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมนายประยงค์ จันทเต็ง นายอำเภอจอมบึง สัตวแพทย์หญิงวรรณี วัฒนพงศ์ชาติ ปศุสัตว์จังหวัด สัตวแพทย์หญิงสุพภาพร จ๋วงพานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก จ.ราชบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางตรวจเยี่ยมสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง อ.จอมบึง เพื่อขอดูรายละเอียดเสือโคร่งจากวัดป่าหลวงตามหาบัว ที่ทยอยล้มตายนายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ให้ข้อมูลว่า สำหรับเสือโคร่งที่รับมาดูแลแยกเป็น 2 แห่ง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ทยอยขนมาชุดแรกเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 จำนวน 5 ตัว ชุดที่ 2 ขนมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 5 ตัว และชุดที่ 3 ขนมาระหว่างวันที่ 2- 4 มิถุนายน 2559 จำนวน 75 ตัว อีกส่วนนำไปเลี้ยงดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ต.รางบัว 62 ตัว รวม 147 ตัว
“หลังจากนำมาดูแลเสือได้ทยอยล้มตายทั้ง 2 แห่งรวม 86 ตัว จากภาวะการเคลื่อนย้ายครั้งหลังสุดที่ไม่ปกติ ทำให้มีผลกระทบตัวเสือโคร่งโดยตรง เสือเกิดความเครียดมีปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งการขนย้ายนั้น สัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติฯจะเข้าประเมินสุขภาพเบื้องต้นก่อน พร้อมเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสุขภาพของเสือแต่ละตัวว่ามีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน หลังจากขนย้ายเสร็จแล้ว จะให้สัตวแพทย์ที่ขนย้ายกับสัตวบาลประจำสถานีเฝ้าสังเกตพฤติกรรมและสุขภาพของเสือที่มาอยู่ใหม่เป็นเวลา 30 วัน

โดยพบว่าเสือโคร่ง 40 ตัว มีอาการหอบ หายใจดังติดขัด มีอุจจาระเหลว สีคล้ำจนถึงดำ ถือว่ายังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสาเหตุใด เรื่องการหายใจเสียงดังหอบเป็นภาวะทางระบบทางเดินหายใจ ส่วนการถ่ายอุจจาระเหลวถึงดำ อาจเป็นภาวะความเครียดได้ ดูพฤติกรรมอาการไปครบ 30 วัน สามารถปรับพฤติกรรมการอยู่ในกรงเลี้ยงได้ เริ่มเข้ากับคนเลี้ยงและกรงใหม่ได้ จากนั้นมีการดูแลอย่างต่อเนื่องตามหลักวิชาการโดยมีสัตวแพทย์คอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและส่วนที่เกี่ยวข้อง

ส่วนเรื่องการตายนั้น มาพบเสือโคร่งตัวแรกที่ขนย้ายมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ตายในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 มีระยะห่างประมาณ 3 เดือน จึงให้สัตวแพทย์ผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตาย หลักๆเจอเรื่องลิ้นกล่องเสียงบวม หรือ อัมพาตลิ้นกล่องเสียง เป็นอาการที่เกิดขึ้นในภาวะอากาศร้อน หรือมีความเครียดสูง เวลามีอากาศร้อน ตัวลิ้นกล่องเสียงจะบวมแล้วจะปิดทำให้สัตว์หายใจลำบาก จะมีอาการชัก ทุรนทุรายและตายในที่สุด เป็นเสือตัวแรกที่ตาย

Advertisement

มีการส่งตัวอย่างไปตรวจที่ศูนย์พัฒนาการสัตวแพทย์ตะวันตก อ.โพธาราม ช่วงนั้นยังไม่ได้สงสัยอะไรมากนัก แค่ตรวจว่ามีเชื้อระบาดหรือไม่ กระทั่้งเสือทยอยตายได้ประมาณ 1 ปี โดยช่วง 1 ปี จะตายติดต่อกัน 2 ตัว จึงสงสัย เนื่องจากมีอาการตายเหมือนกัน จึงปรึกษาทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขอนำซากทั้งตัวไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผลตรวจออกมาว่า นอกจากอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ยังมีภาวะการได้รับเชื้อไข้หัดสุนัขร่วมด้วย

หลังจากนั้นเริ่มทยอยตายลงเรื่อยๆ เดือนละ 1-2 ตัว บางเดือนไม่มีการตาย นอกจากนี้ยังพบไข้หัดสุนัขประมาณ 11 ตัว แต่ระหว่างที่มหาวิทยาลัยมหิดลตรวจพบเชื้อตัวแรก ทีมงานศูนย์เฝ้าระวังระบาดโรงของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจโรคว่ามีสาเหตุมาจากอะไร พร้อมให้คำแนะนำวิธีการดูแลรักษา ช่วงนี้จึงมีการรักษาอย่างต่อเนื่องของเสือ 11 ตัวประมาณ 1 ปี ซึ่งดูแลรักษาโดยให้ยาสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวสัตว์ได้ เพราะโรคภาวะติดเชื้อไวรัสนี้ไม่มีทางรักษา อาการเกิดโรคจะไม่หาย ทำอย่างไรให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันที่สามารถต้านเชื้อไวรัสตรงนี้ได้ คล้ายคนเป็นหวัด คือ มีอาการแพ้ ก่อนตายจะได้รับอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เสือจะมีอาการแพ้และลิ้นกล่องเสียงบวมทันที

ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 ตายประมาณตัวที่ 21 ผ่าชันสูตร ซึ่งมีอาการเหมือนเดิมคือภาวะอัมพาตลิ้นกล่องเสียง แต่ไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หัดสุนัข หลังจากนั้นทยอยตายลงมาเรื่อย โดยอาการตรงนี้จะไม่หาย ซึ่งได้ทราบอาการของโรคนี้แล้วว่าโรคอัมพาตลิ้นกล่องเสียงการที่จะบรรเทาให้เสือสามารถอยู่มีชีวิตอยู่ได้ เราจะต้องพยายามสร้างภูมิคุ้มกัน และปัจจัยเรื่องอากาศร้อนหรือความเครียดต่างๆ ได้พยายามป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ กรณีความร้อน พยายามติดสปริงเกอร์ พร้อมไอพ่นหมอกบริเวณกรง และให้คนเข้าไปน้อยที่สุด เพื่อลดความเครียดของสัตว์ จะสามารถช่วยชีวิตสัตว์ได้

Advertisement

ระหว่างนี้มีการวางแผนทำการผ่าตัดลิ้นกล่องเสียง โดยทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานฯร่วมกับทีมสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล จะมี 2 วิธี คือ ผ่าตัดยึดรั้งลิ้นกล่องเสียงให้เปิดเล็กน้อย และวิธีผ่าตัดโดยตัดเล็มผนังตรงลิ้นกล่องเสียงเพื่อให้เปิด สัตว์จะหายใจได้สะดวก เวลามีการบวม ยังมีช่องหายใจอยู่ จะลดภาวการณ์ตายลงได้ แต่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ จะช่วยได้ทางกายภาพ ซึ่งได้ผ่าพิสูจน์ไปกว่า 10 ตัว ผ่าโดยวิธีตัดเล็มตรงผนังลิ้นกล่องเสียงแค่ 2 ตัว ถามว่าโรคนี้มาอย่างไร คิดว่าตั้งแต่ก่อนเคลื่อนย้ายก็พบว่าสถานที่เลี้ยงเดิม จะมีพวกหมูป่า กวางป่า วัว ควาย เนื้อทราย นกยูงเลี้ยงปะปนแบบอิสระ แต่เสืออยู่ในกรงเลี้ยง กว้าง 6 คูณ 6 เวลานำเสือออกมาแสดง จะเดินผ่านกลุ่มสัตว์เหล่านี้ สามารถคาดเดาได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ ปัจจุบันกรมอุทยานฯกำชับให้ปรับปรุงกรงคอกให้มีขนาดเพียงพอในการนำเสือมาอยู่ใน 1 กรง 1 ตัว พร้อมจัดทำอุปกรณ์เสริมสร้างสวัสดิภาพ ภายในกรงจะมีบ่อน้ำ มีอุปกรณ์ปีนป่าย พร้อมกันนี้ กรมฯได้สนับสนุนงบประมาณการทำ Yard สำหรับเสือโคร่งเพิ่มเติมซึ่งเป็น Yard ขนาดใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนอีกส่วนได้ทำ Yard ไปบางส่วนแล้วประมาณ 4-5 กรง เป็น Yard ประมาณ 10 คูณ 10 เมตร ช่วยบรรเทาส่วนที่เสืออยู่เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีสวัสดิภาพที่ดี พยายามยื้อชีวิตให้นานที่สุด

น.ส.ลักษณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า สำหรับที่อยู่ของเสือจะมีที่ให้หลบซ่อน ให้นอน หรือถ้าในส่วนที่มีการจับคู่เราก็จะใช้เป็นที่ผสมพันธุ์ เป็นที่คลอดลูก แต่ส่วนพื้นที่ Yard จะเป็นพื้นที่ที่ปล่อยออกมาเพื่อให้เสือได้ทำกิจกรรม แสดงพฤติกรรมให้มีวิ่งเล่น มีว่ายน้ำ แต่ถ้าสมมุติในเวลากลางคืนเก็บเสือเข้าไปในห้องนอน ซึ่งใน Yard ยังมีบ่อน้ำ มีต้นไม้พร้อมใส่ที่ลับเล็บไปด้วย พร้อมกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เสือได้อยู่เป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยพื้นที่ Yard จะเชื่อมต่อกรงอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นพื้นที่เหมือนกับสามารถเดินเข้าจากเสือตัวนี้ใช้พื้นที่แล้วจะปิดกรง วันรุ่งขึ้นอาจจะเป็นเสืออีกตัวที่ใช้พื้นที่ Yard ส่วนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image