“อดีตปธ.หอฯกาญจน์” บี้กรมอุทยานฯ ต้องทบทวนกรณีเสือของกลางตายกว่า 80 ตัว แนะใช้หลักรัฐศาสตร์หาทางออกร่วมกับวัด

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยึดเสือโคร่งของกลาง จำนวน 147 ตัว จากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือ วัดเสือ ที่เคยเป็นสถานท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกในอดีต ตั้งอยู่ริมถนนสาย 323 กาญจนบุรี-ไทรโยค หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และนำไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2559 หรือประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่กรมอุทยานฯได้เคลื่อนย้ายเสือจำนวนดังกล่าวไป ทำให้วัดเสือ แหล่งท่องเที่ยวซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุดเสือของกลางได้ทยอยเสียชีวิตลงด้วยโรคอัมพาตลิ้นกล่องเสียง 86 ตัว จากจำนวนเสือของกลางทั้งหมด โดยระบุสาเหตุการตายของเสือว่า เกิดจากการเพาะพันธุ์ในครอบครัวเดียวกันจนเลือดชิดและเป็นโรคติดต่อตั้งแต่เอามาจากวัดฯ

ซึ่งหลังจากเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น พระวิสุทธิสารเถร (ภูสิต ขันติธโร) หรือหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือ วัดเสือ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก ภายหลังจากเสือดังกล่าวได้ถูกเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายออกไปจากวัด กรณีที่กรมอุทยานฯ ระบุสาเหตุการตายนั้น เป็นเพียงข้ออ้างที่โยนความผิดให้กับวัดฯ พร้อมขอให้นำลูกเสือที่คลอดออกมาใหม่มาเลี้ยงที่วัดฯ

ขณะที่ชาวกาญจนบุรีต่างรู้สึกสะเทือนใจและสงสารเสือเหล่านั้นอย่างมากเช่นกัน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ปลุกกระแสให้คนเมืองกาญจน์ออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ต้องการทวงคืนเสือกลับมาให้ทางวัดเป็นผู้ดูแลเหมือนเช่นในอดีต

ล่าสุดวันนี้ 18 ก.ย.62 นายธีรชัย ชุติมันต์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ตนเห็นว่ากรมอุทยานฯ ไม่พิจารณาการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวในเรื่องของการยึดเป็นของกลาง แต่การวางแผนในเรื่องของของกลางที่เป็นสิ่งมีชีวิตจะต้องดำเนินการอย่างไร ในเมื่อมาเอาไปก็จะต้องดูแลได้ แต่ถ้าคิดว่าเกินความสามารถที่จะดูแลได้ การยึดเสือเหล่านั้นก็จะต้องพิจารณาให้ดีและถี่ถ้วน พร้อมกับหาทางออกร่วมกันระหว่างวัดกับเรื่องของการอนุรักษ์เสือ ซึ่งที่ผ่านมานับสิบปีทางวัดฯ ก็สามารถดูแลได้ แต่กรมอุทยานฯ มายึดไป สุดท้ายดูแลเสือเหล่านั้นไม่ได้ ปล่อยให้ตายไปแบบนี้ ดังนั้นกรมอุทยานฯ ควรจะต้องทบทวนในสิ่งที่เกิดขึ้น

Advertisement

นายธีรชัยกล่าวว่า ทั้งนี้จากการดำเนินการโดยหลักนิติศาสตร์เพียงอย่างเดียว ก็ได้เห็นผลที่เกิดขึ้นแล้วว่าเป็นอย่างไร เราไม่อยากจะถามถึงความรับผิดชอบ แต่อยากให้ร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้จะดีกว่า เสือที่ยังเหลืออยู่จะได้ไม่ต้องมาตาย เพราะการบริหารที่ผิดพลาด ขณะที่ทางวัดก็ยินดีหากกรมอุทยานฯ จะนำเสือกลับมาให้วัดฯ เป็นผู้ดูแลต่อ โดยจะทำการขึ้นทะเบียนหรือจะดำเนินการด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย โดยนำหลักรัฐศาสตร์เข้ามาร่วมใช้ในการทำงาน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะเสือที่เหลืออยู่ด้วย

“การที่กรมอุทยานฯ ยืนยันด้วยคำกล่าวที่ว่า เสือเหล่านั้นเป็นของกลาง ตนมองว่าถึงแม้เสือจะเป็นของกลาง แต่หากทุกฝ่ายหารือร่วมกัน เชื่อว่าสุดท้ายแล้วก็จะมีทางออกที่ดี แต่หากยืนยันว่าตามระเบียบกฎหมายแล้วของกลางไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะต้องไล่ต่อไปว่า กรมอุทยานฯ ยึดเอาของกลางไปแล้ว และทำของกลางสูญหาย ความผิดอยู่กับใคร ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับเสือที่ตายไป” นายธีรชัยกล่าว

นายธีรชัยกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี อะไรที่ทำได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่องเที่ยว หากเราทำได้ก็ควรจะทำ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาวัดเสือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ และสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะทัวร์จีนเดินทางมาท่องเที่ยวในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จะเห็นว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากหลายประเทศเคยเช่าเหมาลำเครื่องบินจากประเทศเหล่านั้นเพื่อตรงมาเที่ยวชมเสือ เพราะต้องการมาดูและได้อยู่ใกล้ชิดกับเสือ อาทิ ให้อาหารเสือ ป้อนนมลูกเสือ อาบน้ำให้เสือ ก่อนจะบินกลับประเทศ โดยไม่ไปแวะท่องเที่ยวที่ใดเลย อย่างไรก็ตามตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่กรมอุทยานฯ ออกมาระบุถึงสาเหตุการตายของเสือดังกล่าวว่าเกิดจากการเพาะพันธุ์ในครอบครัวเดียวกันจนเลือดชิดและเป็นโรคติดต่อตั้งแต่เอามาจากวัดฯ นั้น ในเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้เลย เพราะที่ผ่านมานานนับสิบปีที่ทางวัดเลี้ยงเสือเหล่านั้นมาก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image