เดือด! ชาวสีคิ้วไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล ยกการเมืองท้องถิ่นต่อสู้ สุดท้ายพ่อเมืองโคราชต้องหย่าศึกสั่งปิดประชุม

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 กันยายน ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานและผู้แทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 6 นครราชสีมา (กกพ.6 นม.) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาและเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (กอ.รมน.) นครราชสีมา ได้ประชุมติดตามความคืบหน้ากรณีการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล ของ บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด ตั้งอยู่บ้านหนองรี หมู่ 3 ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยใช้เศษไม้ เปลือกไม้และรากเหง้ามันสำปะหลังรวมทั้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขนาดกำลัง 9.9 เมกกะวัตต์ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยนางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล พร้อมพวกซึ่งเป็นชาวสีคิ้วได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ระบุการออกใบอนุญาตให้โรงไฟฟ้า ฯ ดำเนินกิจการไม่ชอบด้วยกฎหมายและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาวะอนามัยของชาวบ้านที่มีที่ทำกินและบ้านพักอาศัยในละแวกที่ตั้งโรงไฟฟ้า ฯ รัศมี 1-2 กิโลเมตร

โดยมีนายจำนง ชมพูพล ผู้แทนบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด พร้อมพวก ซึ่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงข้อมูลวิชาการอ้างได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายและกิจการได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ส่วนนางสาวสุรีรัตน์ ฯ แกนนำคนรักษ์สีคิ้วและชาวบ้านจำนวน 15 คน สวมเสื้อยืดสีเขียว “ เราไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล ” ยกตัวอย่างชาวบ้านได้รับผลกระทบทำให้เกิดโรคภูมิแพ้และการจราจรในหมู่บ้านคับคั่ง เนื่องจากตลอดทั้งวันมีรถบรรทุกวัตถุดิบมาส่งโรงไฟฟ้า เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง บรรยากาศค่อนข้างเคร่งเครียดมีเสียงทั้งโห่ฮาและตบมือคู่ โดยกรณีระหว่างโรงไฟฟ้ากับชาวบ้านได้อ้างข้อมูลที่ตรงข้ามกันและไม่มีท่าทีจะยินยอมแต่อย่างใดและในที่ประชุมได้พาดพิงความขัดแย้งระหว่างนามสกุลจันทรรวงทองและด่านกุล อดีตเคยต่อสู้ในสนามการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ โดยนางสาวจุรีรัตน์ ฯ อ้างไม่เกี่ยว ที่ออกมาต่อสู้เนื่องจากเป็นชาวสีคิ้วและเป็นทนายความ ชาวบ้านมาขออาสาให้ช่วยเหลือ ผวจ. ฯ จึงสั่งปิดการประชุม

นายวิเชียร เปิดเผยว่า ได้พิจารณาการตั้งโรงไฟฟ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขั้นตอนล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีของศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา โรงไฟฟ้าสามารถดำเนินกิจการได้ชั่วคราวจนกว่าตุลาการจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดและผลกระทบจากมลพิษเกิดจากการดำเนินกิจการ โรงไฟฟ้ายืนยันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสุ่มเก็บตัวอย่างและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด แต่ชาวบ้านอ้างได้เกิดอาการเจ็บป่วยซึ่งค่อนข้างยากแก่การพิสูจน์ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงและติดตามผลการเจ็บป่วยของชาวบ้านในรัศมีที่ตั้งโรงไฟฟ้า เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นธรรมและเป็นข้อยุติร่วมกันรวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน

นายจำนง ผู้แทนฝ่ายโรงไฟฟ้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัดและจัดกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อสังคมมาตั้งแต่เริ่มสร้างโรงไฟฟ้า กรณีอาการเจ็บป่วยและมีผลยืนยันสาเหตุเกิดจากมลพิษของโรงงาน เรายินดีรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ตามขอความเป็นธรรมให้กับเราด้วย หากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป จะมีมูลค่าความเสียหายซึ่งเป็นเงินกู้สถาบันการเงินรวมมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image