ขุดลอกอ่าวปัตตานี 6 เดือนไม่เห็นผล! ชาวบ้านเสนอ 4 ข้อแก้ปัญหา-หวั่นกระทบท่องเที่ยว-ประมง

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ที่กรมเจ้าท่าเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะนี้ได้เนินงานมาแล้วกว่า 6 เดือน ซึ่งเกิดปัญหากับชุมชนโดยรอบอ่าวปัตตานี 3 อำเภอ 7 ตำบล ได้แก่ ต.บางปู ต.บาราโหม ต.ตะโละกาโปร ต.บานา ต.ตันหยงลุโละ ต.แหลมโพธิ ต.รูสะมีแล และเริ่มส่งผลกระทบกับ ต.บางตาวา และในหลายๆ พื้นที่ ชาวบ้านเกิดความเดือดร้อนเรื่องทำประมงพื้นบ้าน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องตะกอนเป็นพิษ ปลาเลี้ยงในกระชังเริ่มตาย หญ้าทะเลเสียหาย สัตวหน้าดิน เช่น หอย อาศัยไม่ได้ เกิดสันดอน เกาะแก่งเพิ่มขึ้น คนประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง เช่น อวนลอย กุ้ง ไม่สามารถลอยได้ติดโคลนที่ดูดขึ้นมากองไว้กลางทะเล และไม่ปลอดภัยในการเดินเรือ โดยเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง

ทั้งนี้ ชาวบ้านเกิดข้อกังวล จากการสังเกตผลเสียมากกว่าผลดี เพราะหลังจากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีโครงการวิจัยเรื่องการจัดตั้งและบริหารจัดการ “คณะทำงานอ่าวปัตตานี” ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดปัตตานี เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ให้กระทบมากขึ้นไปอีกในอนาคตแล้ว แต่มาถึงปัจจุบันก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด

ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน เปิดเผยว่า ไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ในช่วงการขุดลอก เพราะการขุดบ่อทำให้น้ำตื้นนักท่องเที่ยวที่มาชมอ่าวปัตตานี อุโมงค์ป่าโกงกาง เกิดปัญหาเรือติด ไม่สามารถชมอุโมงค์ป่าได้เหมือนเดิม ซึ่งทางตัวแทนชาวประมงและชาวบ้านได้เกิดความวิตกกังวล อยากทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของกรมเจ้าท่า ให้สะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคอีก 6 เดือนข้างหน้า จากระยะเวลาการดำเนินการขุดลอกเป็น 1 ปีเศษ และมีเรือกลที่ใช้ขุดลอกกว่า 10 ลำ กระจายอยู่ทั่วอ่าวปัตตานี โดยชาวบ้านสังเกตเห็นว่าลอกอ่าวล่าช้า ทรายที่ขุดมากองในทะเลเป็นจุดๆ ลักษณะเหมือนไม่มีคนคุมงาน ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายประสงค์ที่โครงการวางไว้ ด้านระบบนิเวศป่าชายเลนเริ่มเสียหาย พืชบางชนิดเริ่มตาย ระบบน้ำเข้าหมุนเวียนตามป่าชายเลนไม่เหมือนเดิมต่อไป

Advertisement

โดยชาวบ้านมีเสนอว่า 1.โครงการพัฒนาของรัฐ ต้องให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ แท้จริง 2.เคารพกฎกติกาของชาวประมง พื้นบ้าน ระบบนิเวศ เคารพสิทธิของชาวบ้าน 3.เปิดโอกาสชาวบ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา 4.ควรขุดลอกให้อ่าวมีความลึกและถูกต้อง ตามที่ตั้งโครงการไว้ ถ้ามีโครงการอีกขอให้ทบทวน ควรศึกษาให้รอบด้านเพราะชาวบ้านกระทบหนัก โดยเฉพาะกับเครื่องมือประมงพื้นบ้าน อวนปู เบ็ดราว ตรงที่ถมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอาหารสัตว์ ประเภทหน้าดิน บริเวณอ่าวตอนใน กระชังเลี้ยงปลา ปลาเล็กอยู่ไม่ได้ อีกทั้งกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มลดน้อยลง จึงฝากผู้ที่รับผิดชอบให้พิจารณาปัญหานี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image