ชลประทานยันน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์-จุฬาภรณ์ เพียงพอถึงฤดูแล้งปีหน้า

ชลประทานยืนยันน้ำเก็บกักที่เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์มีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนถึงฤดูแล้งปีหน้า ขณะที่เขื่อนลำปาวเริ่มส่งน้ำให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้วหลังเริ่มเข้าสู่ช่วงของการตั้งท้องและเริ่มออกรวง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 ต.ค.2562 นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 (ขอนแก่น) เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ประจำปี 2562 ต่อเนื่องถึงฤดูแล้ง 62/63 ซึ่งจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 639 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุ โดยมีน้ำใช้การได้ 58 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 3 ของความจุ ซึ่งจัดเป็นปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ด้าน เขื่อนลำปาว ปริมาณน้ำปัจจุบัน 1,714 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 86 ของความจุ น้ำใช้การได้ 1,614 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุ อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก และเขื่อนจุฬาภรณ์ ปริมาณน้ำปัจจุบัน 51 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุ น้ำใช้การ 13 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 10 ของความจุ จัดอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ขณะที่จากการสำรวจส่วนอ่างเก็บน้ำ ขนาดกลาง 69 แห่ง ความจุรวม 440 ล้าน ลบ.ม. ความจุวันนี้อยู่ที่ 355 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุ โดยมีน้ำใช้การได้ 320 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ในจำนวนนี้พบว่ามีความจุมากกว่า 100% จำนวน 15 แห่ง

“สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เร่งวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำช่วงปลายฤดูฝนนี้ โดยจะเร่งตรวจสอบพื้นที่ที่เหมาสมในการเพาะปลูก อ่างฯขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเพียงพอส่งน้ำเพื่อการเกษตร จะส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเกษตรและปลูกต่อเนื่องทดแทนในพื้นที่ที่เหมาะสมซึ่งได้รับผลกระทบน้ำท่วม ซึ่งในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 5 จังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ฝนที่ตกหนักในช่วงเวลาสั้นๆและไม่กระจายตัว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งขณะนี้ทั้ง 5 จังหวัด สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรบางพื้นที่ ไม่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายและฟื้นฟู อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายแห่งได้เก็บกักน้ำไว้ เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 62/63 ซึ่งจะสิ้นสุดฤดูฝนและเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งในวันที่ 1 พ.ย.นี้”

นายศักดิ์ศิริ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้เขื่อนลำปาวได้เริ่มส่งน้ำเข้าระบบเพื่อหล่อเลี้ยงข้าวที่ตั้งท้องออกรวงในระยะ 2 สัปดาห์ต่อจากนี้นี้ ด้านเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคเท่านั้น อย่างไรก็ตามสำหรับมาตรการในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำฤดูแล้งปี 62/63 ได้ทำการประเมินน้ำต้นทุนเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างฯขนาดกลาง เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการอุปโภค-บริโภค สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่เร่งประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้หารือแนวทางบริหารจัดการน้ำร่วมกัน รวมถึงเน้นย้ำให้ทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ และสามารถทำให้มีน้ำใช้ในกิจกรรมที่จำเป็นได้ตลอดจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ปีหน้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image