ยังไม่พบ6ช้างป่า เตรียมวางตาข่ายกั้นลำน้ำดักซากอีก แจงอุปสรรคฝังไม่ได้ ต้องเผาเก็บเถ้ากระดูก

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้า กรณีช้างป่าพลัดตกลงไปในน้ำตกเหวนรก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ความสูงชันกว่า 80 เมตร ระหว่างเดินข้ามลำน้ำเหนือปากน้ำตกจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง ส่งผลให้ช้างป่าล้ม 6 ตัว และ รอดชีวิต 2 ตัว โดยติดที่หน้าผาฝั่งตรงข้าม ต่อมาช้างทั้ง 2 ที่เป็นแม่ลูกที่รอดชีวิตได้เดินข้ามลำน้ำกลับมารอขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย ขณะเจ้าหน้าที่ปิดการท่องเที่ยวฝั่งน้ำตกเหวนรก พร้อมจัดชุดลาดตระเวนติดตามช้างแม่-ลูก ก่อนพบรอยเท้าช้างป่าแม่-ลูก ขี้ช้างที่มีซากหยวกกล้วย,สัปปะรด,ที่เจ้าหน้าที่จัดให้กิน จึงมั่นใจว่าช้างป่าปลอดภัย และ ยุติภารกิจการติดตาม

ขณะที่แรงดันกระแสน้ำตกได้พัดซากช้างลงด้านล่างแล้ว 4 ตัว เหลือซากช้างตายที่น้ำตกเหวนรกชั้น 2 อีก 2 ตัว นายวิชัย พรลีแสงสุวรรณ ผอ.ส่วนอุทยาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) พร้อมนายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงนำกำลังเดินทางเข้าไปที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เพื่อล่องเรือขึ้นเหนือน้ำ เข้าสู่คลองต้นไทร แต่พบโขดหินขนาดใหญ่ และหน้าผาไม่สามารถล่องเรือต่อไปได้ ต้องเดินเท้าขึ้นไปอีกประมาณ 200 เมตรก่อนนำเชือกขนาดใหญ่มาทำตาข่ายกั้นลำน้ำที่ไหลมาจากน้ำตกเพื่อดักซกช้างที่เหลือ ล่าสุดเวลา17.30น. เจ้าหน้าที่ถอนกำลัง ส่วนเหตุการณ์ยังไม่พบซากช้างไหลลงมา

ต่อมา เวลา 18.40น. นายวิทยา หงส์เวียงจันทร์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) กล่าวรายงานว่า “ภารกิจเกี่ยวกับการกู้ซากช้างป่า 6 ตัวที่ตายอยู่ในน้ำตกเหวนรก วันนี้มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 คน และ ผู้สื่อข่าวจากสำนักต่าง ๆ ประมาณ 20 กว่าคน ลงเรือจากหัวเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก รวม 3 ลำ เพื่อสำรวจจุดวางตาข่ายขนาดใหญ่ดักซากช้างป่าไม่ให้ลงมาถึงเขื่อนขุนด่าน ป้องกันภาวะมลพิษในอ่างเก็บน้ำ เรือวิ่งเข้าไปได้ประมาณ 7 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเท้าต่ออีก 200 เมตร จะไปเจอช่องที่แคบที่สุดของคลองไทรประมาณ 35 เมตร มีก้อนหินด้านซ้าย และด้านขวาขนาบกัน มีต้นไทรอยู่ด้านข้าง เป็นจุดที่ติดตั้งตาข่ายดักซากช้าง ส่วนด้านข้างมีที่ราบเป็นดงไผ่ ใช้สำหรับเผาทำลายซากช้างทั้ง 6 ตัว หลังจากทำพิธีทางศาสนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นนำเศษเถ้าถ่าน-กระดูกช้างป่าทั้งหมดฝังกลบพร้อมเอาปูนขาวโรยเพื่อฆ่าเชื้อปรับให้เรียบร้อย

“อุปสรรค หรือ ปัญหา คือ ไม่สามารถนำเครื่องมือหนัก อาทิ รถแบ็คโฮชนบรรทุกใส่เรือขึ้นไปบนอุทยานได้ การใช้แรง – กำลังเจ้าหน้าที่ในการขุดชั้นดินบนอุทยานฯจะเป็นชั้นหินที่ขุดได้ยาก โดยเฉพาะช้างป่าขนาดใหญ่ทั้ง 6 ตัวที่ใช้พื้นที่ลึก และจำนวนมากจึงเป็นข้อจำกัด จำเป็นต้องทำลายโดยการเผา จากนั้นนำเถ้ากระดูกของช้างป่าทั้ง 6 ตัวมาฝัง ในจุดเดียวกันกับที่เคยฝังซากช้างป่าที่ประสบโศกนาฏกรรมลักษณะเดียวกันเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2535 ซึ่งช้างถูกน้ำพัดตกน้ำตกเหวนรกเช่นเดียวกับครั้งนี้

Advertisement

สำหรับในวันพรุ่งนี้ (8 ตุลาคม )วางแผน นำตาข่าย และเชือกเข้าไปขึงดักซากช้างป่า คาดว่าซากช้างป่าจะลอยมาถึงจุดขึงตาข่ายดักอยู่ ใช้เวลาประมาณ 4 -5 วัน แต่ถ้ากระแสน้ำแรง อาจมาถึงเร็วกว่านั้น เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้เราต้องรีบทำให้เร็วที่สุด โดยชุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จะนำเรือบรรทุกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวม 1 ลำ เข้าไปวางตาข่ายเชือกขวางกั้นลำน้ำดักซากช้างป่า ให้มาติดป้องกันไม่ให้ไหลตามลำน้ำลงไปถึงเขื่อนขุนด่านปราการชลที่อยู่ด้านล่างที่อาจเกิดมลพิษในเขื่อนฯได้ ข้อมูลเพิ่มเติม จากการบินโดรนดูพื้นที่ของน้ำตกเหวนรก เมื่อก่อนหน้านั้นเราคิดว่าน้ำตกเหวนรกมี 3 ชั้น แต่สภาพจริงๆแล้ว น้ำตกเหวนรกมีทั้งหมด 5 ชั้น จากจุดที่เราเดินเท้าไปขึ้นไปน้ำตกเหวนรกชั้น 1 ย้อนขึ้นไป กระแสน้ำแรงมาก และเป็นหน้าผา ไม่สามารถขึ้นทวนกระแสน้ำขึ้นไปได้ ต้องรอกระแสน้ำพัดซากช้างลงมาเอง ส่วนช้างแม่ลูกที่รอดชีวิตมา 2 ตัว ตอนนี้เข้าป่าไปหากิน ยังเคยเดินหากินอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบตามเส้นทางจากทิศใต้ขึ้นไปสู่ทิศเหนือ ทางด้านที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” นายวิทยากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image