เกษตรกรไร่มันสำปะหลังครวญ แบน 3 สารพิษทำต้นทุนสูง ร้านค้าบ่นขายล้างสต๊อกไม่ทัน ขอ รบ.ทบทวนนโยบาย

สืบเนื่องจากมาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบน 3 สารพิษ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต โดยยกเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ห้ามนำเข้า-ส่งออก-จำหน่าย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ตามที่หลายฝ่ายได้นำเสนอผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพร่างกายของเกษตรกรและปัญหาสารตกค้างที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

ล่าสุด วันที่ 9 ตุลาคม นางสุวรรณรัตน์ ตูมนอก เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังคงมีความจำเป็นในการทำการเกษตรอยู่ เนื่องจากปริมาณการปลูกพืชไร่ โดยเฉพาะมันสำปะหลังนั้นต้องใช้พื้นที่ปลูกค่อนข้างกว้างกว่าพืชชนิดอื่น หากใช้แรงงานคนในการกำจัดศัตรูพืชในไร่ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุน โดยพื้นที่ปลูกพืช 5 ไร่ ถ้าใช้ยาฆ่าหญ้า รวมทั้งจ้างแรงงานฉีด ตกวันละประมาณ 500 บาท แต่ถ้าใช้คนในการถางหญ้าจะตกวันละประมาณ 1,000-1,200 บาท ดังนั้น การยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชควรหามาตรการรองรับให้เกษตรกรด้วย เช่น การควบคุมราคาผลผลิตให้เพิ่มสูงขึ้น ในกรณีที่เกษตรกรหันมาปลูกพืชแบบอินทรีย์เพื่อเป็นการจูงใจในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตร แต่ถ้าราคาผลผลิตยังคงตกต่ำเช่นนี้อยู่ การเลือกใช้สารเคมีเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตก็ถือว่ายังคงจำเป็นอยู่กับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้สอบถามร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรต่างๆ ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ต่างก็เป็นกังวลเกี่ยวกับนโยบายการสั่งแบน 3 สารเคมีดังกล่าว เนื่องจากแต่ละร้านยังมีสินค้าอยู่ในสต๊อกเป็นจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรรายหนึ่งในตัวเมืองนครราชสีมาระบุว่า ทันทีที่ทราบข่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ลงมติเป็นเอกฉันฑ์ 9-0 เสียง ให้แบน 3 สารเคมี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปนั้น ทำให้ร้านค้าต่างๆ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละร้านมีสินค้าสารเคมีที่ถูกแบนอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งสารเคมีดังกล่าวก็หมดฤดูกาลขายแล้ว ต้องรอถึงฤดูฝนแรกในปีหน้า ดังนั้น การจะขายให้หมดสต๊อกได้ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่ถ้าจะให้เริ่มบังคับใช้กฎหมายในเดือนธันวาคมนี้ คงจะขายไม่หมดแน่นอน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นการบีบบังคับให้ร้านค้าต้องลักลอบขายสารเคมีที่ถูกแบนขึ้นได้ นอกจากนี้ ในส่วนของเกษตรกร ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากสารที่จะมาทดแทนสารเคมีที่ถูกแบนนั้นมีราคาสูงกว่าสารเคมีที่ถูกแบน 4-5 เท่าตัว จึงอยากให้รัฐบาลได้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image