ร้อง ‘ศอ.บต.’ หักหลังไม่ออกเอกสารสิทธิ์ที่อยู่อาศัย หลังล่าชื่อชงครม.ผ่าน ‘เมืองต้นแบบ’

ร้องศอ.บต.-เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดสงขลาว่า ที่บริเวณชายทะเลบ้านสวนกง หมู่ 11 ต.นาทับ อ.จะนะ แกนนำเครือข่ายภาคประชาชนในนามสมาคมพัฒนาสังคมและชุมชนในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจะนะจังหวัดสงขลา ได้แก่ ตำบลนาทับ ตำบลสะกอมและตำบลตลิ่งชัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะใช้ดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต. ได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ให้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติในหลักการเมื่อ 7 พฤษภาคม 2562 โดยทางสมาคมพัฒนาสังคมและชุมชนได้รับมอบหมายจากศอ.บต.ให้ทำหน้าที่ในการรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านใน 31 หมู่บ้านใน 3 ตำบล ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและได้ข้อสรุปความคิดเห็นและความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ต่อโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม

โดยจากการรับฟังความเห็นชาวบ้านในพื้นที่นั้นพบว่า ชาวบ้านมีความกังวล ทั้งในช่วงก่อนก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้างและหลังก่อสร้าง ทั้งในเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อวิถีชีวิต อาชีพ รายได้ รวมถึงการไม่ทำตามข้อตกลงหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ความต้องการเร่งด่วนของชาวบ้านในพื้นที่นี้คือ ต้องการให้ออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ซึ่งมีชาวบ้านนับพันราย ที่อาศัยในที่ดินสาธารณะประโยชน์ แต่ล่าสุดนั้นพบว่า ศอ.บต.ไม่ได้คิดที่จะทำตามข้อตกลงที่ชาวบ้านต้องการ

Advertisement

นายสมาน หลิมหลี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ตำบลนาทับบอกว่า ศอ.บต.ต้องการให้ชาวบ้านร่วมออกแบบในการพัฒนาพื้นที่ แต่เมื่อชาวบ้านได้ข้อสรุปในความต้องการการพัฒนา ศอ.บต.กลับจงใจที่จะไม่ทำตามความต้องการนั้นๆ ที่สำคัญ ไม่มีความจริงใจในการให้ชาวบ้านออกแบบการพัฒนากันเอง เนื่องจากได้มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชน ที่อยู่ในจังหวัดยะลา มาคิดแทนและให้มีอำนาจในการวางแผนการพัฒนาอำเภอจะนะ มากกว่าคนในพื้นที่ ทางสมาคมฯ จึงได้ถอนตัวออกมาและจะไม่ร่วมในการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม ที่ขาดความจริงใจเช่นนี้

สำหรับข้อกังวลของชาวบ้านในพื้นที่นั้น จากการสอบถามความเห็นใน 31 หมู่บ้าน 3 ตำบล พบว่าใน ช่วงก่อนก่อสร้างโครงการฯข้อกังวล ศึกษาผลกระทบไม่ละเอียดและไม่ให้ข้อมูลที่เป็นจริงต่อประชาชน ไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาทุกๆด้านอย่างจริงจัง เป็นเหมือนโครงการอื่นๆที่ผ่านมา ไม่จริงใจ ไม่ครอบคลุม และแก้ปัญหาไม่ได้จริง ไม่ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เจรจากับ ผู้นำบางคนบางกลุ่ม โดยไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนส่วนมาก ไม่มีข้อมูลว่าจะสร้างอะไรก่อนหลัง สร้างตรงจุดไหนทำอะไร และสร้างเมื่อไหร่ เพื่อจะได้รับมือได้ง่ายขึ้น

Advertisement

ช่วงระยะก่อสร้าง ข้อกังวล เกิดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ทางอากาศ ทางเสียง ทางน้ำ ,ความปลอดภัยทางทะเลและการจราจรทางถนน,ความปลอดภัย และความวุ่นวายของคนทำงานก่อสร้างที่ต้องมาอาศัยอยู่ในพื้นที่,สูญเสียพื้นที่การประกอบอาชีพด้านประมง เกษตร และการเลี้ยงสัตว์,คนในพื้นที่ไม่ได้ ถูกจ้างให้ทำงานตามความต้องการของประชาชน,รายได้ลดน้อยลง จากผลกระทบจากการก่อสร้างในพื้นที่
และช่วงระยะหลังก่อสร้างเสร็จ ข้อกังวล ไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง เหมือนตอนก่อนจะสร้าง,ไม่ได้ทำตามสัญญาประชาคมที่ตกลงกัน,ประชาชนในพื้นที่ ไม่มีงานทำเหมือนเดิม,พื้นที่โดนกีดกัน ห้ามทำ ห้ามยุ่ง ห้ามเข้า เพราะเป็นพื้นที่โครงการฯ,มีระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆมากยิ่งขั้นทำให้ประชาชน เข้าถึงสิทธิเรื่องต่างๆได้อยากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image