‘หนาว’นี้ระวัง ‘แล้ง’ต่อเนื่อง

ฤดูหนาวปี 2562 ใกล้มาเยือนแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะอากาศฤดูหนาวของไทย ในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคม 2562 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า บริเวณประเทศไทยตอนบน ฤดูหนาวจะเริ่มต้นในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคม 2562 จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ทั้งนี้ อากาศเย็นที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ส่งผลทำให้หลายพื้นที่มีฝนและอุณหภูมิลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ทำให้มีโอกาสที่ทั้งสองภาค จะมีอุณหภูมิลดลงมาอีก 1-3 องศาเซลเซียส

นอกจากนั้น ในช่วงวันที่ 12-13 ตุลาคม 2562 ทางกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะมีมวลอากาศเย็นอีกระลอกแผ่เสริมลงมาปกคลุมตอนบนของประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิต่ำสุดของภาคเหนือจะอยู่ระหว่าง 18-21 องศาเซลเซียส และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุดระหว่าง 19-22 องศาเซลเซียส

อากาศเย็นที่แผ่ลงมาเป็นสัญญาณของ ฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

Advertisement

ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์เรื่องอุณหภูมิต่ำที่สุดของกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ 15-17 องศาเซลเซียส ช่วงเวลาที่จะมีอากาศหนาวเย็นที่สุดส่วนใหญ่จะเริ่มครึ่งหลังของเดือนธันวาคม 2562 ถึงปลายเดือนมกราคม2563

สำหรับยอดดอยและยอดภู รวมทั้งบริเวณเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมักมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

ลองมาดูสถานการณ์การเตรียมความพร้อมของทางจังหวัดกันดูบ้าง โดย คมสัน สุวรรณอัมพร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เผยสถานการณ์ภัยหนาวช่วงปลายฝนต้นหนาวปีนี้ว่า ปีนี้อากาศหนาวมาเร็ว มีความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ปกคลุมภาคเหนือตอนบนทุกปี คาดว่าจะมีผู้ประสบภัยหนาวจาก 25 อำเภอ รวมกว่า 200,000 ราย การช่วยเหลือหรือแจกเครื่องกันหนาวอาจไม่ทั่วถึง เนื่องจากบางพื้นที่อยู่ห่างไกลและติดตะเข็บชายแดน บางส่วนอยู่บนพื้นที่สูง เกินกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เกิดอากาศแปรปรวนได้ง่าย ซึ่งภาคเอกชนที่ต้องการบริจาคเครื่องกันหนาว สามารถติดต่อจังหวัดเพื่อหาข้อมูลไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวได้โดยตรง เพื่อป้องกันแจกซ้ำซ้อนและไม่ทั่วถึง

Advertisement

“อากาศหนาวมีผลกระทบต่อความแห้งแล้ง และปัญหาไฟป่าหมอกควันฝุ่นละออง PM 2.5 ปกคลุมตัวเมืองเชียงใหม่ จึงประสานฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 211 แห่ง สำรวจความต้องการเครื่องกันหนาวแล้ว พร้อมจัดสรรงบประมาณให้เฝ้าระวัง ลาดตระเวนทำแนวป้องกันไฟป่า สร้างฝายชะลอน้ำเพื่อความชุ่มชื้น ในช่วงอากาศหนาวและแห้งแล้ง พร้อมประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างการรับรู้ผ่านเสียงตามสายหรือหอกระจายข่าว รวม 2,066 หมู่บ้านด้วย”คมสันกล่าว

ไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปีนี้อากาศหนาวมาเร็ว ต้นพฤศจิกายนนี้อากาศจะเย็นลงมาก ยาวจนถึงกุมภาพันธ์ปี 2563 รวม 4 เดือน แม้อากาศหนาวส่งผลกระทบเกิดภาวะแห้งแล้ง เนื่องจากเกิดภาวะเอลนิโญ แต่ไม่รุนแรง เนื่องจากมีมรสุมพัดผ่านภาคเหนือหลายลูก ทำให้แหล่งน้ำของชลประทาน กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภคเพียงพอ ไม่ขาดแคลน พื้นที่แห้งแล้งที่ได้รับผลกระทบจากอากาศหนาว คือ อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง อ.ฮอด อ.ดอยเต่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน

“เบื้องต้นสำรวจ พบว่ามีผู้ประสบภัยหนาวที่ขอรับการช่วยเหลือเครื่องกันหนาวกว่า 100,000 ราย ใกล้เคียงปีแล้ว ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาเครื่องกันหนาวไม่ได้เพิ่มขึ้น บางส่วนราษฎร จัดซื้อเอง หรือได้รับการบริจาคจากหน่วยงาน หรือองค์กรการกุศลต่างๆ แต่ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยติดเตียง ที่เป้าหมายช่วยเหลือเป็นอันดับแรก ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอากาศหนาว ส่วนใหญ่เป็น อ.อมก๋อย อ.แม่แจ่ม อ.กัลยานิวัฒนา อ.แม่อาย อ.ฝาง อ.เชียงดาว ซึ่งเป็นพื้นที่สูงและอยู่ ห่างไกล แต่ภาพรวมปีนี้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว น่าครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น”นายไพรินทร์กล่าว

ขณะที่ จ.ลำปาง มีพื้นที่ 13 อำเภอ ในทุกพื้นที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ทั้งในหุบเขาและบนยอดเขา เป็นหมู่บ้านชนเผ่าพื้นที่สูง ทำให้ในแต่ละปีจากการสำรวจของอำเภอและสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง มีผู้ประสบภัยหนาวกว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก ที่มีฐานะยากจน โดยร้องขอให้ทางจังหวัดช่วยเหลือเครื่องนุ่งห่มกันหนาว เพื่อใช้ห่มคลายหนาวในพื้นที่

สภาพอากาศในพื้นที่ จ.ลำปาง จะแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่ง จ.ลำปาง ที่อยู่ใจกลางของภาคเหนือตอนบน มีภูเขาสูงล้อมรอบทุกด้าน และพื้นที่ยังเป็นแอ่ง หรือที่ชาวลำปางรู้ว่าเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ หากร้อนก็จะร้อนจัดร้อนนาน จนเป็นข่าวโด่งดังที่ผ่านมา ในทุกปี เนื่องจากแสงแดดที่ส่องลงมาในพื้นที่ ทำให้ความร้อนเกิดวนอยู่ภายในพื้นที่แอ่งกระบะ ทำให้ร้อนนานและร้อนมาก โดยที่ลมไม่สามารถพัดคลายความร้อนไปได้โดยเร็ว รอความร้อนที่จะลอยขึ้นไปในช่วงค่ำ หรือกลางคืน

ส่วนอากาศหนาวนั้น ทิวา พันธ์ไม้สี ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง เปิดเผยว่า อากาศที่หนาวเย็นที่สุดในพื้นที่ จ.ลำปาง จะอยู่ในช่วงกลางฤดูหนาว หรือประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม ของทุกปี อุณหภูมิบริเวณพื้นราบจะหนาวเย็นในช่วงกลางดึก เช้ามืด และเช้าตรู่ อุณหภูมิเฉลี่ย 15-17 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณหุบเขา และยอดดอยจะหนาวไปจนถึงหนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำลงกว่า 11-13 องศาเซลเซียส จะเกิดความหนาวเย็นตลอดทั้งวัน เนื่องจากบ้านเรือนตั้งอยู่ในหุบเขา และยอดดอย

สำหรับบนยอดดอย บางช่วงและในบางปีอุณหภูมิเคยต่ำลงมาอยู่ที่ 2-4 องศาเซลเซียส จนทำให้เกิด “แม่คะนิ้ง” หรือ “น้ำค้างแข็ง” เกิดขึ้นในพื้นที่จนเห็นขาวโพนไปทั่วพื้นที่ อย่างเช่น บนยอดดอยหมู่บ้านแม่แจ๋ม ม.1 ต.แจ้ห่ม อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เป็นพื้นที่สูง ถูกจัดว่าเป็นหมู่บ้านชาวเขาที่ตั้งอยู่จุดสูงสุดของ จ.ลำปาง จึงมีการทำการเกษตรผลผลิตไม้เมืองหนาว ทั้งพืชผัก และผลไม้ รวมถึงกาแฟ รวมถึงยังได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากหนาวเย็นตลอดทั้งปี และหนาวสุดในช่วงกลางฤดูหนาว

“พื้นที่อำเภอทางตอนบนของ จ.ลำปาง ได้แก่ อ.วังเหนือ อ.แจ้ห่ม อ.เมืองปาน และ อ.งาว มักจะมีชาวบ้านประสบภัยมาก เนื่องจากอยู่บนพื้นที่สูงและหุบเขา ดังนั้น จึงมีความหนาวมากกว่าปกติจากพื้นราบทั่วไปมาก สำหรับสภาพอากาศที่หนาวเย็นนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับมวลอากาศที่แผ่ลงมาปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รวมถึง จ.ลำปาง ด้วย และจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นภูเขา และหุบเขาสลับซับซ้อน จึงทำให้ความหนาวเย็นปกคลุมพื้นที่ ทำให้หลายๆ คนพูดติดปากว่า ลำปางหนาวมาก”

ด้าน สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดผลการประชุมศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 6/2562 เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงการเตรียมพร้อมรับมือฤดูแล้งต่อว่า การประปาส่วนภูมิภาคได้สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562-เมษายน 2563 รวมทั้งสิ้น 48 สาขา ใน 24 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด 12 สาขา ภาคอีสาน 11 จังหวัด 28 สาขา ภาคตะวันออก 2 จังหวัด 4 สาขา และภาคใต้ 4 จังหวัด4 สาขา

เบื้องต้นกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดทำแผนสำรองไว้ในส่วนที่มีการใช้แหล่งน้ำร่วมกัน ขณะที่น้ำเพื่อทำการเกษตรในปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำหลายๆ แห่งมีค่อนข้างน้อย มีความจำเป็นต้องกักเก็บน้ำไว้ตลอดฤดูแล้งหน้า เพื่อไม่ต้องการให้กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภค

ขณะนี้มีการแจ้งข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศไปยังกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้เตรียมการและจัดทำแผนการเพาะปลูกให้มีความชัดเจน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับทราบโดยทั่วกัน

เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งน้ำในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image