ชาวเลยประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัด จ่อดันนโยบายสาธารณะ ‘ล่างสู่บน’ เสนอ ครม.ไปใช้จริง

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม ชัยพฤกษ์ โรงแรมเลยพาเลซ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานพิธีเปิด ประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย ประจำปี 2562 โดยมีนางสุทิน ผลิตนนท์เกียรติ์ ประธาน คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ และผู้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลยร่วมเข้าประชุม พร้อมกับ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการด้านการแก้ไขความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มารับฟังปัญหาและร่วมวงเสวนา โดยมีกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 300 คน

นางสุทิน ผลิตนนท์เกียรติ์ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พุทธศักราช 2550 ก็เพื่อต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเลย ทั้งภาคประชาชน ภาคราชการ ภาควิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ที่ทุกฝ่ายอยากเห็น และอยากให้เกิดขึ้นจริงร่วมกัน โดยผ่านกระบวนการพิจารณา และตัดสินใจร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้น ได้มีเครือข่ายภาคประชาชน หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ได้ขอใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ร่วมกันจัดทำ และร่วมกันประกาศเป็นนโยบายของสาธารณะไปแล้ว รวม 4 นโยบาย ซึ่งประกอบด้วย

1.นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ว่าด้วยความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ต่อมาได้ยกระดับไปเป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ว่าด้วยมาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลย หรือมีชื่อย่อว่า มาตรฐาน LSF

2.นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ว่าด้วยการจัดการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุจังหวัดเลย

Advertisement

3.นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ว่าด้วยการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

4.นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ว่าด้วยตำบลน่าอยู่

โดยนโยบายที่ 4 นี้ ได้ประกาศเฉพาะเพียงอำเภอละ 1 ตำบล รวม 15 ตำบล เพื่อเป็นการนำร่อง แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะค่อยๆ ทยอยประกาศเพิ่มขึ้นในปีต่อไป

Advertisement

ในปี 2562 นี้ การประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย จะเน้นที่การนำผลการนำนโยบายต่างๆ ที่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ไปทำการขับเคลื่อน มารายงานให้สมาชิกที่ประชุมและสังคมได้รับทราบว่า “มีความก้าวหน้าอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ปัญหา อุปสรรคมีอะไรบ้าง และมีข้อเสนอแนะในประเด็นอะไรบ้าง”

ทั้งนี้ การที่มีมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะเป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการ สร้างนโยบายสาธารณะ โดยสังคมแบบ “ล่างขึ้นบน” ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามาช่วยเติมเต็ม นโยบายสาธารณะที่มาจากชาวบ้าน และผู้ได้รับผลกระทบกับนโยบายของรัฐ ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมของสังคม จากนโยบายส่วนใหญ่ มาจากกระทรวง ทบวง กรม ที่เคยเป็นนโยบายแบบ “บนลงล่าง” แต่สำหรับของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลับเป็นนโยบายสาธารณะที่มาจาก “ล่างขึ้นบน” และปรับเป็นเชิงนโยบาย เพื่อจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีนำไปใช้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image